0
| Health Tips

7 โรคภัย ที่ต้องระวังไว้ในฤดูฝน

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 5 October 2020
 2176 times
 | 
SHARE 0 times

     
     ฤดูฝน เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่เต็มไปด้วยสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยมี 7 โรคสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนี้

     1. ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ชื่อว่า Influenza Virus ซึ่งเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน อาการติดเชื้อมักเริ่มขึ้นในจมูกและคอ (เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน) และแพร่กระจายไปยังปอดและหลอดลม แต่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น โดยไข้หวัดใหญ่มีสายพันธุ์ใหญ่หลัก ๆ สามสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B และสายพันธุ์ C โดยสายพันธุ์ B เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งจะระบาดบ่อยในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดีเป็นพิเศษในอาการเย็น

      อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส นาน 2-4 วัน คัดจมูกบ่อย ๆ ปวดศีรษะมาก ๆ มีอาการปวดตัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้ออย่างมาก แน่นหน้าอกหรือไอบ่อย ๆ และอาการอาจรุนแรงขึ้นได้ เจ็บคอบ่อย ๆ มีน้ำมูกบ่อย ๆ จามบ่อย ๆ มีอาการเบื่ออาหารบ่อย ๆ รู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ คลื่นไส้และอาเจียน โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก และมีอาการอ่อนเพลียมาก อาการยาวนาน 2-3 สัปดาห์

     2.ไข้หวัดธรรมดา เป็นโรคที่พบบ่อยมาก ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งพบว่าเป็นหวัดได้บ่อยถึงปีละ 6 - 8 ครั้ง เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ และเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ และอาจเจ็บป่วยจนถึงขั้นเป็นหวัดเรื้อรังหรือเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมปอด ไซนัสและหูชั้นกลางอักเสบตามมาได้

     อาการของโรคไข้หวัดธรรมดา มีไข้ไม่สูงมาก หรือมีไข้แบบค่อยเป็นค่อยไป และเป็นอยู่ไม่เกิน 3 วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน 3 – 4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน แต่เด็กมักจะมีไข้สูงมากกว่าผู้ใหญ่ มีปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและลำตัวเล็กน้อย หรืออาจไม่ปวดเลย ไอแบบแห้ง ๆ และแน่นหน้าอก แต่ไม่มากนัก เจ็บคอบ่อย ๆ มีน้ำมูกบ่อย ๆ จามบ่อย ๆ ไม่มีอาการเบื่ออาหาร กินอาหารได้ตามปกติ ๆ รู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ คลื่นไส้และอาเจียน มีอาการอ่อนแรงและอ่อนเพลียไม่มากนัก แต่จะรู้สึกไม่สบายตัว

     3.โรคต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอซึ่งเกิดจากคออักเสบ ทั้งจากกลุ่มโรคติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเชื้อไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิด มีบางส่วนประมาณ 15-20% เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด และอีกประมาณ 5% เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ

     อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ กลืนลำบาก เสียงแหบ มีไข้สูง ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีกลิ่นปาก บางรายอาจมีอาการท้องเดิน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย    

     4.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อโรต้าไวรัส” ที่มาจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป

     อาการของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีลักษณะอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด อาจมีอาการไข้หรืออาเจียน มีอาการอ่อนเพลีย เกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก โดยไม่ได้รับสารน้ำทดแทนที่ทันท่วงที เป็นโรคที่สามารถหายป่วยเองได้ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

     5.โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ ตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยและติดต่อกันง่ายมาก คือโรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส โดยการติดต่อทางน้ำตาผ่านการสัมผัสโดยตรงจากมือ หรือเครื่องใช้ และไปสัมผัสตาขออีกคนหรือถูกน้ำสกปรกเข้าตา แต่ไม่ติดต่อทางการมองทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน

     อาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบ บริเวณเยื่อบุตาที่คลุมภายในหนังตาและคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ บวม เคืองตามาก น้ำตาไหล เจ็บตา และมักมีขี้ตามากร่วมด้วย อาจเป็นเมือกใส หรือมีสีเหลืองอ่อนเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน

     6.โรคไข้เลือดออก เกิดจากการถูกยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดเพื่อปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดคนต่อไปและทำให้คนนั้นป่วยได้

     อาการของโรคไข้เลือดออก จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน คลื่นไส้ ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน

     7.โรคฉี่หนู เรียกอีกอย่างว่าโรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นโรคที่พบว่าระบาดมากที่สุดในฤดูฝน เพราะน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่าง ๆ ไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข เป็นต้น โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการ แต่มีการติดเชื้อที่ต่อไต ทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ แล้วแฝงอยู่ในจุดที่น้ำท่วมขัง และเชื้อโรคก็จะติดต่อทางบาดแผล มีน้ำเป็นตัวนำพา จึงไม่ควรเดินในน้ำขัง โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผลบริเวณเท้า

     อาการของโรคฉี่หนู อาจไม่มีอาการสำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อบางคน ส่วนผู้ที่มีอาการ อาจแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

     ระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อ 4-7 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหลัง น่อง ต้นคอ มีอาการตาแดงในช่วง 3 วันแรก และเมื่อถึง 1 สัปดาห์อาจเปลี่ยนเป็น ตาเหลือง ตัวเหลือง ความดันโลหิตต่ำ ในรายที่ป่วยรุนแรง จะมีอาการ ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต

     ระยะที่สอง หลังจากเริ่มมีอาการไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ จะมีช่วงที่ไข้ลดลงประมาณ 1-2 วัน แล้วกลับมามีไข้ขึ้นอีกครั้ง ในระยะนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการ ปวดศีรษะ ไข้ต่ำ คลื่นไส้ไม่มาก อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ การทำงานของตับและไตผิดปกติ ซึ่งระยะนี้กินเวลานานถึง 30 วัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย

      การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดในช่วงการระบาดของไวรัสไข้หวัดต่าง ๆ หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำ สระผม ทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องตากฝน หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำขัง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำขิง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง นะคะ

Health Tips Other
see more