0
| Health Tips

เช็กให้แน่ ! ไข้หวัด หรือ โควิด และ 7 วิธีเสริมภูมิคุ้มกันง่าย ๆ

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 2 February 2024
 596 times
 | 
SHARE 4 times

 

     โรคไข้หวัดธรรมดา เกิดจากเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) ที่ทำให้เกิดโรคกับทางเดินหายใจ

     โรคโควิด-19 เกิดจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โคโรนาไวรัส ถูกค้นพบและมีมานานแล้ว มีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์แล้ว 6 สายพันธุ์) เป็นไวรัสที่สามารถทำให้ปอดมีอาการอักเสบรุนแรงได้ เป็นเชื้อไวรัสถูกค้นพบใหม่ นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในคน

     อาการป่วยโดยรวมของโรคกลุ่มนี้จะมีความคล้ายกันรวมไปถึงอาการของโรคภูมิแพ้ โรคไข้หวัดใหญ่ เพราะสามารถติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงได้ แต่หากเราทำความรู้จักโรค แยกอาการให้เป็น สังเกตความแตกต่าง ไม่ตื่นตะหนก และหมั่นดูแลรักษาสุขภาพเน้นสร้างภูมิคุ้มกัน คือสิ่งที่ดีที่สุด
 

 

     โรคโควิด-19

     ในบางรายอาจไม่มีอาการรุนแรง และบางอาการอาจมีในบางคน แต่รวม ๆ จะมีอาการเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะเจ็บคอและหายใจผิดปกติมากกว่าคนเป็นไข้หวัดทั่วไป โดยมีอาการหายใจลำบากและแน่นหน้าอก บางคนมีอาการรุนแรงมาก ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ แต่การเป็นโรคโควิด-19 นี้ สามารถหายได้เอง รูปแบบการรักษาก็เป็นไปตามอาการที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 นี้ จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพและสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี
 

     โรคไข้หวัดใหญ่

     แบ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว อาการมักจะไม่รุนแรง และยังมีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป และมีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 ค่อนข้างมาก แต่ที่แตกต่างคือมักจะไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และเมื่ออาการที่คล้ายคลึงกัน เวลาไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไปนั่นเอง
 

     โรคไข้หวัด

     เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ และมักพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตก อากาศหนาว หรือร้อนจัด ก็เป็นหวัดได้ ความรุนแรงของโรคก็ไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน โรคไข้หวัดสามารถติดต่อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ไอ จาม หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย
 

     โรคภูมิแพ้
     เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แล้วมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารต่าง ๆ ที่ร่างกายรับเข้ามาในชีวิตประจำวัน เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น ความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาหาร ฯลฯ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย หรืออวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ได้แก่ คันจมูก ผื่นคัน จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละคนจะมีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันที่สามารถรบกวนชีวิตประจำวันเล็กน้อยไปจนถึงขั้นที่อันตรายถึงชีวิต

     ระบบภูมิคุ้มกันเป็นกลไกหลักในการป้องกันร่างกายและต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่พยายามเข้ามาในร่างกายแล้วก่อให้เกิดการติดเชื้อ โรคภัย ตลอดจนช่วยให้ร่างกายเกิดการฟื้นตัว ได้อย่างน่าทึ่งและช่วยให้เรามีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม หากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ ก็มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อและล้มป่วยได้


     LiveandFit มีไอเดียดี ๆ ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโดยไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เพียงแค่เราปรับใช้ให้เกิดความคุ้นชินเป็นนิสัยเพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อการโจมตีของเชื้อโรค และ 7 เคล็ดลับนี้ คือวิธีเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายแบบง่าย ๆ ที่ควรทำประจำให้เป็นนิสัยเพื่อให้คุณยกการ์ดสูงขึ้นอีกนะคะ

 

     1.กินอาหารต้านโรค

     เลือกกินอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารที่เป็นกุญแจสำคัญในการเสริมภูมิคุ้มกันปกป้องร่างกายของเราจากการเจ็บป่วย เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สีเหลือง สีส้ม ผลิตภัณฑ์จากนม พืชตระกูลถั่ว ไข่ และ ขิง ที่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่าง ๆ จำพวก วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี แร่ธาตุสำคัญอย่าง ซิงค์ จินเจอร์รอล เซเลเนียม มีส่วนช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ


     2.นอนหลับให้เพียงพอ

     เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอ จะปล่อยฮอร์โมนความเครียดในร่างกายออกมาในระดับที่สูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากขึ้น แน่นอนว่าต้องมีบางครั้งที่ร่างกายของเราอาจต้องอดนอน ให้ลองหาสาเหตุที่ทำให้คุณนอนไม่หลับและพยายามขจัดปัญหานี้ออกไป การนอนหลับให้เพียงพอเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมง สามารถสร้างปาฏิหาริย์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของคุณได้ โดยการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก ในผู้ที่นอนหลับคืนละ 7 ชม. เป็นเวลา 4 วัน แล้วให้วัคซีนไข้หวัด พบว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถสร้างแอนติบอดี ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดได้มากกว่าผู้ที่นอนหลับคืนละ 4 ชม. ถึง 50%


     3.เลี่ยงการบริโภคน้ำตาล

     คนส่วนใหญ่รู้ว่าน้ำตาลส่วนเกินในอาหารมีส่วนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย แต่รู้ไหมว่า น้ำตาลยังส่งผลเสียต่อเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันรวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่โจมตีแบคทีเรียที่ไม่ดีในร่างกายของเรา ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณก็คือ การหลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือจำกัดปริมาณน้ำตาลอย่าให้เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือเลือกสารให้ความหวานแทนน้ำตาล จำพวก ซูคราโลส หรือ ใบหญ้าหวานสกัด


     4.ออกกำลังกายทุกวัน

     เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้ว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการมากมาย แต่รู้ไหมว่า การออกกำลังกายยังมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่มีหน้าที่ในการปล่อยฮอร์โมนอะดรีนาลีนและนอร์เอพิเนฟรินที่ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันของเรา ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจก่อนว่า การออกกำลังกายทุกวันไม่จำเป็นต้องสุดโต่ง เพียงเราออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น เดิน 20 นาที ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากและสามารถทำเป็นประจำได้อย่างง่ายดายอีกด้วย


     5.ล้างมือให้สะอาด

     การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันภายนอกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ภายในร่างกาย เพราะไวรัสบางชนิดสามารถอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมงหรือแม้แต่เป็นวัน ควรล้างมือก่อนการปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร รวมไปถึงล้างมือหลังจากหยิบจับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนบัตร และสิ่งของสาธารณะที่มีคนใช้บริการจำนวนมาก ทำให้คุ้นชินจนเป็นนิสัย เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ นะคะ


     6.ลดความเครียด

     หากเราเครียดเรื้อรัง เครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน (การวิจัยพบว่าความเครียดบางอย่างส่งผลดีต่อร่างกายจริง ๆ) จะส่งผลต่อการเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ ลดลง จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการลดความเครียดจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณทำงานได้อย่างราบรื่น ลองเริ่มต้นด้วยการผสมผสานวิธีการต่าง ๆ เข้ากับกิจวัตรประจำวันของคุณ เช่น การทำสมาธิ การหายใจลึก ๆ การพักงานช่วงสั้น ๆ หรือเมื่อจำเป็น ให้หากลุ่มบำบัดหรือที่ปรึกษาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความเครียดของคุณนะคะ


     7.เลือกเครื่องดื่มเพิ่มภูมิคุ้มกัน

     ปรับเปลี่ยนเครื่องดื่มแก้วประจำของคุณให้เป็นผลิตภัณฑ์นมสด นมรสจืดพร่องไขมัน น้ำผลไม้คั้นสด น้ำขิง ที่มีคุณประโยชน์ในการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือเลือกเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล เพราะเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอร่อยอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เห็นได้จากสารพัดเมนูเครื่องดื่มในปัจจุบันที่เรียกได้ว่า รับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาเยอะเลยทีเดียว มีการปรุงแต่งรสชาติไปด้วยความหวาน หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปจำพวก น้ำผัก ผลไม้รวม ที่แม้จะอ้างว่ามีส่วนประกอบจากน้ำผัก-ผลไม้หลายชนิด แต่ถ้าลองดูข้อมูลส่วนประกอบจะเห็นว่า เกือบหลายยี่ห้อจะมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณที่เกินกว่าความต้องการของร่างกายที่ส่งผลเสียต่อเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันรวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่โจมตีแบคทีเรียที่ไม่ดีในร่างกายของเรานะคะ



ที่มา
[1] COVID-19 VS ไข้หวัดใหญ่ อาการต่างกันอย่างไร? / โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
[2] ภูมิแพ้ VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด-19 แยกให้เป็นไม่ตื่นตระหนก / กระทรวงสาธารณะสุข
[3] ความแตกต่างระหว่าง COVID-19 vs ไข้หวัดอื่นๆ / โรงพยาบาลเวชธานี

Health Tips Other
see more