0
| เคล็ดลับสุขภาพ

ตุ๋น ต้ม นึ่ง อย่างไรให้อร่อย คงคุณค่าสารอาหารมากที่สุด

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 17 ก.พ. 2566
 1091 ครั้ง
 | 
แชร์ 0 ครั้ง

 

     การประกอบอาหารคือการทำให้อาหารสะอาด ปราศจากเชื้อโรค มีกลิ่นและรสชาติที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญอาหารต้องสุกด้วยการ ตุ๋น ต้ม นึ่ง อบ ปิ้ง ย่าง ฯลฯ สารพัดวิธีปรุงอาหาร แต่จะปรุงสุกอย่างไรจึงจะช่วยรักษา คุณค่าทางโภชนาการไว้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการปรุงสุกแบบ ตุ๋น ต้ม นึ่ง นั้นต่างกันอย่างไร? Live & Fit มีคำตอบ พร้อมเคล็ดลับช่วยรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหารให้มากที่สุด
 

 

     ตุ๋น

     การตุ๋นเป็นวิธีการทำให้วัตถุดิบหลักในเมนูอาหารเกิดการสุกจนเปื่อย โดยใช้ภาชนะประเภทหม้อถึง 2 ชั้น โดยวิธีตุ๋นอาหาร คือการนำอาหารที่ต้องการทำให้สุกจนเปื่อย ใส่ลงไปในภาชนะที่มีฝาปิด อาทิ หม้อที่มีฝาปิด ถ้วย หรือ ชามที่มีฝาปิด แล้ววางซ้อนลงในภาชนะที่มีน้ำ ตั้งไฟให้เดือด โดยให้ความร้อนของน้ำเดือดสัมผัสกับภาชนะที่บรรจุอาหารและมีฝาปิด ในการตุ๋นทุกครั้ง ควรใส่น้ำในภาชนะชั้นนอกให้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของภาชนะชั้นใน เพื่อไม่ให้น้ำลงไปในอาหารเวลาน้ำเดือด ซึ่งอาหารที่ประกอบด้วยวิธีการตุ๋นนี้ก็มีเมนูแสนอร่อยอย่าง ไข่ตุ๋น เนื้อตุ๋น ฯลฯ

     การตุ๋นอาหารดีอย่างไร?

     เมนูอาหารที่ผ่านวิธีการตุ๋น จะยังคงคุณค่าโภชนาการทางอาหารเอาไว้ได้มากวิธีหนึ่ง เพราะอยู่ในภาชนะที่มีฝาปิด สารอาหารระเหยออกไปได้น้อย และการตุ๋นอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่มีลักษณะเหนียว เช่น เนื้อตุ๋น เป็ดตุ๋น ถ้าอยากให้อาหารเปื่อยต้องใช้เวลาตุ๋นนานออกไป หรือจะใช้ไฟอ่อนตุ๋นเป็นเวลานาน ให้อาหารสุกอย่างช้า ๆ จนเนื้อสัตว์เปื่อยนุ่ม เป็นต้น น้ำที่ได้จากการตุ๋นยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำราด หรือเป็นน้ำซุปซดร้อน ๆ ได้อีกด้วย
 

 

     ต้ม

     การต้มเป็นวิธีการปรุงอาหารให้สุกด้วยการใช้ภาชนะพร้อมกับใส่น้ำ ตั้งไฟต้มให้เดือดจนกว่าวัตถุดิบต่าง ๆ จะสุก ใช้เวลาในการต้มตามชนิดของอาหารนั้น ๆ เช่น การต้มไข่ ต้มผัก ต้มเนื้อสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้อาหารได้รับความร้อนโดยตรงจากอุณภูมิของน้ำที่เดือดภายในภาชนะ วัตถุดิบ ไม่ควรหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

     การต้มอาหารดีอย่างไร?

     การประกอบอาหารด้วยวิธีการต้ม จะทำให้อาหารสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการได้ง่าย เนื่องจากสารอาหารจะละเหยไปกับไอน้ำและละลายไปกับน้ำ เช่น หากเราต้มผัก จะทำให้คุณค่าของวิตามินในผักลดลง เหลือเพียง 40-50% และถ้ายิ่งต้มนานและใช้น้ำมากเกินไป คุณค่าทางอาหารก็จะยิ่งหายไป เคล็ดลับคงคุณค่าสารอาหารให้มากที่สุดคือ วัตถุดิบ ไม่ควรหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ควรใส่น้ำในปริมาณน้อยแค่พอท่วมวัตถุดิบ ใช้ไฟแรงให้น้ำเดือดจัด จึงใส่วัตถุดิบลงไปต้มพอสุกแล้วตักขึ้นมาทันที และควรรับประทานน้ำที่ต้มมากับอาหารด้วย เช่น ซดน้ำซุปร้อน ๆ ก็จะได้ทั้งความอร่อยและสารอาหารที่มีประโยชน์นั่นเอง

 

     นึ่ง

     การนึ่งเป็นการทำอาหารให้สุกด้วยความร้อนจากไอน้ำ ที่ได้จากการต้มน้ำให้เดือด แล้วนำอาหารที่จะนึ่งใส่ในหม้อนึ่งหรือลังถึง แล้วนำขึ้นตั้งบนหม้อน้ำเดือด ความร้อนของไอน้ำจะถูกถ่ายเทไปยังพื้นผิวของอาหารและนำพาความร้อนเข้าสู่ภายในชิ้นอาหาร เมื่ออาหารที่ผ่านการนึ่งจนสุกจะชุ่มชื้น ผิวนุ่ม เช่น ปลานึ่ง ห่อหมก ขนมเทียน ผักสดนึ่ง เป็นต้น

     การนึ่งอาหารดีอย่างไร?

     การนึ่งจะต่างจากการตุ๋น ตรงที่การนึ่งจะใช้ความร้อนจากไอน้ำผ่านขึ้นมาสัมผัสกับอาหาร ส่วนการตุ๋นนั้น อาหารที่กำลังตุ๋นจะอยู่ในภาชนะที่ปิดฝา ไม่ได้สัมผัสกับไอน้ำโดยตรง เช่น หากเรานึ่งผัก จะช่วยคงคุณค่าของวิตามินในผักได้ถึง 85-91% และรวมไปถึงหากเรานึ่งปลา จะช่วยคงคุณค่าของโอเมก้า 3 ในปลาให้คงเหลือมากที่สุดได้ แต่หากนึ่งนานเกินไป คุณค่าสารอาหารของวัตถุดิบก็อาจสูญเสียจากการผ่านความร้อนมากขึ้นได้ และอีกหนึ่งข้อดีของการนึ่งก็คือ วัตถุดิบจะอ่อนนุ่ม ทำให้ระบบการย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนักอีกด้วย
 

     นี่แหละ 3 วิธีปรุงอาหารให้สุกด้วยการ ตุ๋น ต้ม นึ่ง พร้อมเคล็ดลับการรักษาคุณค่าทางโภชนาการของสารอาหารให้เหลือไว้เป็นประโยชน์แก่สุขภาพร่างกายของเรามากที่สุดอีกด้วย