0
| เคล็ดลับสุขภาพ

สุขภาพดี เริ่มต้นที่แคลอรี่ ตอนที่ 2 "แคลอรี่ ความเหมือนที่แตกต่าง"

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 1 ธ.ค. 2563
 2051 ครั้ง
 | 
แชร์ 5 ครั้ง


   
     ตามความเข้าใจของคนทั่วไป แคลอรี่ คือพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ โดยไม่ว่าพลังงานแคลอรี่นั้นจะมาจากอาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทไหน แคลอรี่ก็เป็นแคลอรี่ ไม่มีความแตกต่างอะไร แต่เดี๋ยวก่อน! ลองอ่าน “แคลอรี่ความเหมือนที่แตกต่าง” แล้วคุณจะเข้าใจ “แคลอรี่” มากขึ้น

     อาหารบางอย่างกินแล้วอิ่ม บางอย่างกินแล้วอ้วน เนื่องจากแคลอรี่ในอาหารและแหล่งที่มาของอาหารแต่ละประเภทไม่เหมือนกันเลย ยกตัวอย่าง เช่น

     - ไอศกรีมหนึ่งถ้วย กินแผล็บเดียวหมด ได้พลังงาน 500 แคลอรี่ แต่ถ้าต้องกินไข่ต้ม เพื่อให้ได้พลังงาน 500 แคลอรี่ ต้องกินไข่ต้ม 5-6 ฟอง คงต้องใช้เวลากินพอดูและน่าจะมีน้อยคนที่กินไข่ต้มทีละมาก ๆ ในวันเดียว
     - กล้วยน้ำว้า 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 60 แคลอรี่ เท่ากับน้ำอัดลม 100 กรัม แต่น้ำอัดลมถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่อยู่ในกลุ่ม อาหาร Empty Calories หรือ อาหารไร้คุณค่าทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมรสไหน ชนิดไหนก็มีองค์ประกอบหลักเหมือนกัน คือ น้ำ, น้ำตาล, กรดคาร์บอนิก, กรดฟอสฟอริก, คาเฟอีน, สีและกลิ่นหรือรส รวมถึงสารกันบูด

     สำหรับร่างกายนั้น แหล่งที่มาของพลังงานสำคัญมากกว่าตัวเลข เนื่องจากร่างกายมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันในการย่อยอาหารและเครื่องดื่มแต่ละประเภท เพื่อนำเอาพลังงานแคลอรี่ไปใช้  เพราะอาหารแต่ละประเภทมีผลกระทบต่อระดับฮอร์โมน การทำงานของสมอง และระบบอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ประเภทอาหารที่เรากินเข้าไปต่อวัน จึงมีความสำคัญอื่น ๆ นอกเหนือจากแค่ให้พลังงานแคลอรี่อีกด้วย เช่น การกินอาหารที่มีน้ำตาลฟรุ๊กโทสสูง อย่าง ขนมเค้ก คุ๊กกี้ โดนัท ฯลฯ จะเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน และระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ระดับน้ำตาลในเลือดและโคเลสเตอรอลเลวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่หากเรากินอาหารจำพวก ผลไม้ ที่มีน้ำตาลกลูโคสจากธรรมชาติ ที่ไม่ได้มีแค่น้ำตาลเท่านั้น แต่ยังมีเส้นใยอาหารที่จะช่วยชะลอการดูดซึมของลำไส้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเสถียรกว่า

     ฉะนั้น ประเภทอาหารจึงมีความสำคัญไม่แพ้ปริมาณพลังงานแคลอรี่ เพราะอาหารแต่ละอย่างมีค่า ดัชนีความอิ่ม (Satiety Index) ที่ต่างกัน เคยสังเกตไหมว่า อาหารบางประเภทเมื่อกินแล้วรู้สึกอิ่มท้องไปหลายชั่วโมง แต่อาหารบางประเภทพอเวลาผ่านไปไม่นานก็รู้สึกหิวอีก คณะนักวิจัยจาก University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย ได้แนะนำไว้ว่า ควรเน้นกินอาหารที่มีดัชนีความอิ่มสูง เช่น ไข่ ถั่ว และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ และอาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว ซึ่งยังมีเส้นใยอาหารอยู่มาก เช่น พาสต้า โฮลวีท ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท ส่วนอาหารที่อิ่มนานสุดคือ มันฝรั่งต้ม และควรลดปริมาณอาหารที่มีค่าดัชนีความอิ่มต่ำ เช่น โดนัท ขนมเค้ก โรตี อาหารประเภทแป้ง ฯลฯ โดยกลุ่มคนที่ดูแลเรื่องน้ำหนักตัว ควรเลือกอาหารที่ช่วยให้เราอิ่มท้องนานขึ้น เพื่อที่จะได้กินน้อยลง

     สรุปก็คือ อาหารและเครื่องดื่มแต่ละประเภทถึงแม้จะให้พลังงานแคลอรี่ในปริมาณที่เท่ากัน แต่คุณประโยชน์หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายนั้นแตกต่างกันได้ เราต้องฉลาดเลือกอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายในทุก ๆ ด้านนะคะ yes

บทความที่น่าสนใจ
see more