0
| เคล็ดลับสุขภาพ

7 สุดยอดเครื่องเทศ เทรนด์สุขภาพมาแรงแห่งปี

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 25 ก.ย. 2562
 5339 ครั้ง
 | 
แชร์ 1 ครั้ง



เครื่องเทศ ที่นำมาปรุงอาหารเพื่อให้ได้รสชาติ กลิ่น สี และคุณค่าทางโภชนาการ หรือนำมาใช้เพื่อรักษาโรคและบำรุงร่างกาย ล้วนได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เมล็ด ผล ใบ ราก ลำต้น ฯลฯ ที่ทำให้แห้ง ซึ่งเครื่องเทศมีปรากฏในหลายวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยเครื่องเทศของไทยอาศัยพืชผักที่มีเฉพาะในท้องถิ่น ต่อมามีการนำเครื่องเทศจากต่างชาติมาใช้ด้วย ปัจจุบันเครื่องเทศเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหาร และยังมีการเสาะหาเครื่องเทศจากทั่วโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

7 สุดยอดเครื่องเทศ เทรนด์สุขภาพมาแรงแห่งปี โดย Dr. Wendy Bazilian ผู้กล่าวถึงความวิเศษของเครื่องเทศ7 ชนิดไว้ใน The Super Foods Rx Diet ว่านอกจากช่วยเสริมรสชาติในอาหารให้อร่อยแล้ว การเติมเครื่องเทศ 1 ใน 7 ลงไปในแต่ละเมนูอาหารของคุณ ยังช่วยเสริมสุขภาพและขับไล่โรคภัยไข้เจ็บได้ดีอีกด้วย เพราะใน 7 เครื่องเทศนี้มี สารต้านอนุมูลอิสระAntioxidant สูง (สารที่ช่วยป้องกัน หรือช่วยชะลอการเกิด "ออกซิเดชั่น" ซึ่งเป็นตัวทำให้เราแก่เร็วขึ้น ริ้วรอยมากขึ้น ป่วยง่ายขึ้น) การมี 7 เครื่องเทศแสนวิเศษนี้ติดครัวไว้จึงไม่เสียหลายอะไร และสำหรับประโยชน์ของแต่ละชนิดจะมีอะไรบ้าง ตามอ่านลงมาเลยค่ะ

 


1.ขิง (Ginger)

ขิงมีประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย และถือว่าเป็นเครื่องเทศอันดับหนึ่งของระบบอายุรเวท โดยขิงมีฤทธิ์ช่วยให้โพรงจมูกโล่งและป้องกันอาการหวัดคัดจมูก สามารถนำขิงมาประกอบอาหารหรือชงน้ำขิงดื่มแบบไม่ยุ่งยากแต่ประโยชน์เยอะ เพราะ ขิง อุดมไปด้วยสาร จินเจอร์รอล ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟีนอลที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ หรือเปรียบดั่งสมุนไพรรักษามะเร็ง โดยเฉพาะขิงแก่สดอายุ 11 – 12 เดือน จะมีปริมาณสารจินเจอร์รอลมากที่สุด รวมไปถึง วิตามิน, ใยอาหาร และแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ประโยชน์ของขิง ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในร่างกายได้ อาทิ ขิงมีส่วนช่วยป้องกันหวัด แก้เจ็บคอ บรรเทาปวดไมเกรน แก้ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน, ขิงช่วยเพิ่มน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด และเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

 


2.อบเชย (Cinnamon)

อบเชย เป็นเครื่องเทศรสหวานที่มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยสมานแผล ป้องกันอาการท้องร่วง ต้านการอักเสบ ฯลฯ เนื่องจากเปลือกของอบเชยประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการต่อสู้กับสารอนุมูลอิสระที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าสารอนุมูลอิสระอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้มีการศึกษาค้นคว้าที่แสดงให้เห็นว่า อบเชยมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง ส่วนใหญ่จึงนิยมนำอบเชยมาทำเป็นเครื่องแกง เช่น แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น หรือใช้ผสมเป็นไส้ของขนมกะหรี่ปั๊บ หรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั้กดับคาวในอาหารประเภท หรือใช้ผงอบเชยเทศที่บดละเอียดโรยหน้ากาแฟหรือขนมหวาน นอกจากนี้ สารสกัดจากอบเชยยังนำมาใช้เป็นวัตถุกันเสีย หรือใช้ถนอมอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน
 


3.โรสแมรี (Rosemary)

เป็นพืชท้องถิ่นของเมดิเตอร์เรเนียนที่นิยมในยุโรป อเมริกา และเภสัชกรนิยมนำส่วนต่าง ๆ ของโรสแมรี่มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นลำต้น น้ำมัน น้ำและใบอ่อน ทำเป็นยาเพื่อบำบัดอาการต่าง ๆ

เพราะ โรสแมรี่ อุดมไปด้วยสารในตระกูลฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไดออสมิน (diosmin) ไดออสเมติน (diosmetin) เจนกวานิน (genkwanin) และเอพิเจนิน (apigenin) สารเหล่านี้ เป็นเม็ดสีที่ให้สีขาวและเหลืองในโรสแมรี่ ซึ่งจากการทดสอบในห้องทดลองพบว่ามีประโยชน์มาก แม้ยังไม่รู้ว่าต้องกินเท่าไรจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ แต่เป็นสรรพคุณที่น่าสนใจ เช่น เอพิเจนิน ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งตับอ่อน ไดออสมิน เสริมความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด และ เจนกวานิน อาจป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่นโดยกระตุ้นให้เกิดการผลิตคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนัง รวมไปถึงสารประกอบอื่น ๆ ของโรสแมรี่ คือ กรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) มีฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดโรสแมรี่ยังต้านไวรัสได้อีกด้วย

คนไทยรู้จักโรสแมรี่ในเรื่องของกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยที่นิยมนำมาทำน้ำหอม หรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นอาหาร หรือนำมาทำเป็น ซอส เครื่องปรุงในการหมักซอส น้ำสลัด อาหารจานเนื้อ โดนเฉพาะเนื้อแกะ เนื้อแพะ เนื้อไก่ ช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี

 


4.ขมิ้นชัน (Turmeric)

เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มักใช้เป็นเครื่องเทศในอาหาร เช่น แกงกระหรี่ หรือใช้ผสมเพื่อเป็นสีในอาหารเช่น มัสตาร์ด ชีส เนย ฯลฯ จากบทความเกี่ยวกับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพตลอดปี 2015 – 2016 (Food Trends 2016) ที่เผยแพร่ใน Think with google พบว่าหนึ่งในสมุนไพรที่อยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Food with a Function) ที่มีการค้นหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งในอเมริกาและประเทศอื่น ๆ มากที่สุดชนิดหนึ่งคือ ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน มีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางยาคือสารสีเหลืองส้มชื่อ คูเคอร์มิน (curcumin) โดยจากการทดลองและวิจัยด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คูเคอร์มิน (curcumin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ในร่างกาย ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านปรสิต ต้านการกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง และสามารถป้องกันความเป็นพิษต่อตับจากสารพิษ และยังมีรายงานว่า คูเคอร์มิน (curcumin) มีฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งผิวหนัง ในด้านทางการแพทย์นิยมใช้ผงขมิ้นเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาลดกรด ยาขับลม ยาแก้ปวดท้อง ยาเจริญอาหาร ยาแก้อักเสบ ยาแก้โรคผิวหนัง เป็นต้น

 


5.พริกป่น (Crushed red pepper)

พริกบดของฝรั่งหรือพริกป่นของไทย เป็นอาหารหรือส่วนประกอบในอาหารที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการนำไปประกอบอาหารมากมาย อาทิ การนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารที่เพิ่มรสชาติภายในร้านอาหารตามสั่ง หรือร้านก๋วยเตี๋ยว และต้องมีติดไว้ทุกครัวเรือนแน่นอน ซึ่งหากพูดถึงพริกป่น ส่วนใหญ่จะนึกถึงรสชาติที่เผ็ดร้อนของพริกเป็นอันดับแรก โดยไม่รู้เลยว่าในรสชาติที่เผ็ดร้อนนั้นมีคุณค่าทางอาหารและประโยชน์มากมาย

ความเผ็ดของพริกมาจากสารชื่อ แคปไซซิน (Capsaicin) เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นตัวทำลายภูมิคุ้มกันและเซลล์ต่าง ๆ ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของร่างกายที่แสดงออกมาในรูปของริ้วรอยแก่ก่อนวัย โรคความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ และโรคมะเร็ง ซึ่งแคปไซซินจะมีอยู่มากใยบริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว (คือส่วนเผ็ดมากที่สุด) ส่วนเปลือกและเมล็ดนั้นจะมีสารนี้น้อย ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าส่วนเมล็ดและเปลือกคือส่วนที่เผ็ดที่สุด
 


6.ไธม์ (Thyme)

เป็นเครื่องเทศที่ไม่เด่นแต่ก็ขาดไม่ได้ในครัวฝรั่งเศส มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นกลิ่นคล้ายเลมอนอ่อน ๆ เป็นส่วนประกอบหลักในสตูว์ เข้ากันกับของปิ้งย่างได้เป็นอย่างดี หรือจะเป็นอาหารที่ใส่ไวน์ นิยมใช้ร่วมกับโรสแมรี่ พาร์สลี่ย์ ออริกาโน เพื่อเสริมกลิ่นหอมให้อาหาร

ไธม์ มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร บรรเทาอาการไอ หลอดลมอักเสบ และด้วย ไธม์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนช่วยป้องกันภาวะโรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง มะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ
 


7.ออริกาโน (Oregano)

เป็นเครื่องเทศคู่ครัวอาหารอิตาเลียน เป็นพืชตระกูลเดียวกับมินต์ ซึ่งเราคุ้นชินกับการนำผงออริกาโนมาโรยบนหน้าพิชซ่า เพราะออริกาโนมีกลิ่นหอมและทำให้พิชซ่าอร่อยขึ้น

จริง ๆ แล้ว ออริกาโน สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง โดยออริกาโนอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูงและคุณค่าอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยกำจัดไขมันในเลือด แก้ปวดกล้ามเนื้อ ใบสด ๆ มีกลิ่นหอมแรงแต่ไม่เท่ากับแบบแห้ง จึงนิยมรับประทานออริกาโนแบบแห้งมากที่สุด รับประทานกับเนื้อสัตว์ทุกชนิดและเหมาะกับรับประทานคู่กับซอสมะเขือเทศอีกด้วย