0
| เคล็ดลับสุขภาพ

9 วิตามินบำรุงสายตาทางงานวิจัยที่คุณห้ามพลาดในปี 2025

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 11 ก.ย. 2567
 190 ครั้ง
 | 
แชร์ 0 ครั้ง



“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ที่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกได้มากมายทั้งการบอกรัก ฟ้องว่ากำลังเศร้า เหงา สุข หรือ ทุกข์ ก็บอกได้ด้วยดวงตา แต่จริง ๆ แล้ว “ดวงตาเป็นมากกว่าหน้าต่างของหัวใจ” เพราะเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่มีบทบาทและคุณค่ามากมายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์เราทุกคน โดย 70 – 80% ของการดำเนินชีวิตและวิถีการเรียนรู้หรือรับรู้นั้นล้วนได้มาจากการมองเห็นของดวงตา ซึ่งถ้าหากขาดดวงตาไป หรือจอประสาทตาเสื่อม ดวงตามีการมองเห็นที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโรคตา เราคงมีวิถีการใช้ชีวิตที่แสนยากลำบากมากเลยทีเดียว

เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่เปราะบาง เสียหายง่าย และเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพจากหลายปัจจัย เช่น การติดมือถือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การเผชิญกับแสงแดดและแสงไฟจากอุปกรณ์ส่องสว่างที่มากเกินไป อยู่กลางแจ้งที่ต้องพบเจอแสงแดด ความร้อน เผชิญกับมลภาวะเป็นพิษ รวมไปถึงฝุ่นและควัน ฯลฯ ที่มีความสามารถในการทำลายระบบการมองเห็นของดวงตาได้ทั้งสิ้น [1] [2] [3]


ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตาและโรคตาที่พบบ่อยที่สุด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตาที่พบได้บ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการมองเห็นไม่ชัดเจนจากความผิดปกติของกระจกตา เช่น การมีปัญหาในเรื่องของสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับสายตาในผู้สูงวัย ซึ่งในผู้ที่มีปัญหาทางสายตาเหล่านี้มักแก้ไขปัญหาด้วยการสวมใส่แว่นสายตา แต่ความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นที่เกี่ยวกับโรคตา ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสายตานั้นจะไม่สามารถแก้ไขด้วยแว่นสายตาได้ โดยโรคตาที่พบบ่อยที่สุดได้แก่

  • ตาแห้ง

ตาแห้ง (Dry Eyes) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานและกลุ่มสูงวัยที่มักจะมีอาการไม่สบายตา ระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา มีอาการตาแห้ง แสบตา หรือในบางคนอาจมีน้ำตาไหลก็ได้

ตาแห้ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน, การใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lens), การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือผลค้างเคียงจากการกินยาบางชนิด ซึ่งหากปล่อยเอาไว้เนิ่นนานและไม่ได้ทำการรักษาอย่างจริงจัง อาจทำให้ดวงตามีการมองเห็นที่มัวลง และอาจมีอาการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตาร่วมด้วย

การรักษาตาแห้งนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และมือถือ และมักมีการใช้น้ำตาเทียมร่วมอยู่ด้วยในการบรรเทาหรือรักษาอาการตาแห้ง หรือประคบอุ่น นวดและทำความสะอาดเปลือกตากรณีที่เปลือกตามีความผิดปกติ และสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ [8]



 

  • จอประสาทตาเสื่อม

โดยปกติแล้วจอประสาทตาจะทำหน้าที่รับภาพได้ดี แต่เมื่ออายุอยู่ในช่วงวัย 40 ปี ขึ้นไป จอประสาทตาจะเริ่มเกิดภาวะเซลล์เสื่อมในส่วนของเซลล์รับภาพของดวงตา หรือถูกทำลายไปเอง และเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในบางคน หรือโรคจุดรับภาพเสื่อม (Age – Related Macular Degeneration: AMD) ที่เกิดจากการเสื่อมตามอายุ ในอัตราที่ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การใช้แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ การสัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่น ควัน ความร้อนจากแสงแดด และอาจมีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

มีผลการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์พบว่า การสัมผัสกับแสงสีฟ้าเป็นเวลานาน คือภัยเงียบที่กำลังทำลายเซลล์ต่าง ๆ ในดวงตา โดยแสงสีฟ้า (blue light) เป็นรังสีความยาวคลื่นที่ตามองเห็นได้ สามารถประกอบกับความยาวคลื่นแสงสีอื่น ๆ เช่น แสงจากจอ LED จอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ และแสงไฟนีออนตามบ้านเรือน เป็นต้น เนื่องจากแสงสีฟ้าเป็นคลื่นแสงพลังงานสูงเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระ (Free Radical) ในเซลล์ของจอประสาทตา และทำให้เซลล์ค่อย ๆ เสื่อมลง ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมและโรคตาอื่น ๆ ได้ ซึ่งในผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมากกว่าผู้ชาย และภาวะจอประสาทตาเสื่อมก็ยังสามารถเกิดขึ้นในผู้ที่อายุน้อยได้อีกด้วย อีกทั้งภาวะจอประสาทตาเสื่อมถือเป็นเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง และสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 20 ปี ส่วนจอประสาทตาเสื่อมที่พบในช่วงอายุ 30 - 40 ปีนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมบวกกับอายุที่มากขึ้นที่มีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ที่อยู่ในดวงตาและจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้เช่นกัน 
[4] [5]
โดยการสังเกตในผู้ที่กำลังมีภาวะของจอประสาทตาเสื่อมจะมีลักษณะของการมองภาพไม่ชัด มีการมองเห็นที่แย่ลงเรื่อย ๆ หรือมีการมองเห็นที่เป็นภาพบิดเบี้ยว รู้สึกตาพร่ามัว มองเห็นสีได้น้อยลง มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด

การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมในเบื้องต้น

ภาวะจอประสาทตาเสื่อมสามารถทดสอบได้ด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือ Amsler Grid โดยตารางตรวจจุดภาพชัดนี้ จะเป็นภาพพื้นขาวมีเส้นตารางสีดำ หรือ ภาพพื้นดำมีเส้นตารางสีขาว ที่มีช่องตารางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายช่อง และจะมีจุดเล็ก ๆ ที่เป็นจุดตัดของเส้นตารางที่กลางภาพ ซึ่งในผู้ที่อาจมีภาวะเสี่ยงว่าจะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะใช้ตารางตรวจจุดภาพชัดทดสอบสายตาดังนี้

เตรียมรูปตารางตรวจจุดภาพชัด ยืนห่างจากรูปประมาณ 15 นิ้ว ทดสอบดวงตาทีละข้าง ด้วยการปิดตาข้างหนึ่ง แล้วเพ่งมองจุดเล็ก ๆ ตรงกลางภาพด้วยดวงตาอีกข้างหนึ่ง สังเกตการมองเห็น และทำแบบเดียวกันกับดวงตาอีกข้าง [9] [10]

หากมองเห็นเป็นตารางปกติ ถือว่ายังไม่มีอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่ถ้าเห็นพื้นที่สีดำหรือสีเทาอยู่ตามตาราง หรือตารางบิดเบี้ยวไม่เป็นเส้นตรง หรือลักษณะโค้งงอหรือเป็นระลอกคลื่น และอาการจะเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง กับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ หากเห็นภาพดังกล่าวจะถือว่ามีอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

ภาวะจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นโรคตาที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อดูแลรักษาและช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต ที่น่าเป็นห่วงคือในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถดูแลรัษาเพื่อชะลอการเกิดภาวะเซลล์เสื่อมในดวงตาหรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมช้าที่สุด ให้เราสามารถใช้งานดวงตานานขึ้นได้

และทำความเข้าใจและรู้เท่าทันภัยเงียบต่าง ๆ ทำให้เราสามารถดูแลปกป้องดวงตาของเราจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมและโรคตาบางโรคได้ หากคุณเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นผู้ที่ติดมือถือ ติดโซเชียล ติดเกม ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับแสงแดด ความร้อน และแสงไฟจากอุปกรณ์ส่องสว่างเป็นเวลานาน ต้องพบเจอกับมลภาวะเป็นพิษ รวมไปถึงฝุ่นและควัน ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการทำร้ายดวงตา และกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อดวงตา อุดมไปด้วยวิตามินบำรุงสายตา เพื่อปกป้องดูแลดวงตา ชะลอการเกิดภาวะของโรคจอประสาทตาเสื่อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นการดีที่สุด [8]


9 วิตามินบำรุงสายตาทางงานวิจัยที่คุณห้ามพลาดในปี 2025

จากเหตุและผลข้างต้นที่มีส่วนทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องดูแลรักษาดวงตา จึงทำให้วิตามินบำรุงสายตากลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญติดเทรนด์ฮิตของสายเฮลตี้ โดยพบว่าวิตามินบำรุงสายตาก็มีอยู่ในอาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน แต่เราอาจจะกินได้น้อยหรือไม่ชอบกินอาหารชนิดนั้น ๆ หรืออาหารบางชนิดที่มีวิตามินบำรุงสายตาก็อาจไม่ได้มีในท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่หรือเรียกได้ว่าหากินยากนั่นเอง

ดังนั้น ใครที่กำลังมองหาวิตามินบำรุงสายตาไว้ดูแลปกป้องดวงตา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้สายตาอย่างหนักทุกวัน ต้องทำความรู้จักกับ 9วิตามินบำรุงสายตาทางงานวิจัยที่คุณห้ามพลาดในปี2025 ที่จำเป็นต่อระบบประสาทตาและมีส่วนช่วยในการมองเห็น ดังนี้


1. ลูทีน (Lutein)

ลูทีน (Lutein) คือสารอาหารสำคัญในกลุ่มแคโรทีนอยด์  (Carotenoids) ที่พบได้ในดวงตาคน อยู่ด้านข้างของจุดรับภาพ  (peripheral macula) ช่วยกรองแสงสีฟ้าที่มีอยู่ทั้งในแสงแดด แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากหลอดไฟ ซึ่งเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากและเป็นอันตรายที่อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อม

ลูทีน (Lutein) ยังทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในดวงตาของคนเราอีกด้วย เพราะในดวงตาจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมากที่เป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพ และทำให้เกิดโรคตาและโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาเสื่อมได้ [11] [14]


2. ซีแซนทีน (Zeaxanthin)
 
เป็นสารย่อยในกลุ่มของสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เช่นกันที่อยู่ใจกลางของด้านข้างของจุดรับภาพ (mid-peripheral macula) ทำหน้าที่กรองแสงที่จะผ่านเข้าสู่จอตา มีส่วนช่วยลดการสะท้อนของแสง ป้องกันรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้มีคุณสมบัติของการช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคจอรับภาพเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น 
[11] [14]


3. มีโซ-ซีแซนทีน (Meso-zeaxanthin)

เป็นสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) อีกเช่นกันที่พบในส่วนกลางของจุดรับภาพ (epicenter macula) โดยที่มีโซ-ซีแซนทีนนั้นมีส่วนช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดของกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดของจอตา (Macular Degeneration) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามช่วงอายุของวัยที่มีส่วนทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ และมีโซ-ซีแซนทีน ยังมีส่วนช่วยกรองแสงสีฟ้าในจอตาได้อีกด้วย ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่า มีโซ-ซีแซนทีน คือสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณภาพสูงมาก แต่มีโซ-ซีแซนทีนนั้นต้องถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากจากลูทีน หรือมีการพบเจอมีโซ-ซีแซนทีนในอาหารบางชนิดแต่ก็มีในปริมาณที่น้อยมาก เช่น พบเจอมีโซ-ซีแซนทีนในกระดองกุ้ง หนังปลา และไขมันเต่าทะเลเท่านั้น

แต่เนื่องด้วยช่วงอายุของคนเราที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของดวงตาจากการทำงานมากขึ้น เช่น การทำงานที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้หรือเล่นมือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ทำให้ดวงตาต้องสัมผัสกับ Blue Light หรือ แสงสีฟ้า คลื่นพลังงานที่มากับแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีพลังงานสูงใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มีส่วนในการทำลายเซลล์รับแสงในดวงตา ตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา จอประสาทตา และทำให้ภาวะของระดับสารแคโรทีนอยด์ต่ำ ปริมาณของลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin), มีโซ-ซีแซนทีน (Meso-zeaxanthin) ในดวงตาลดลง และมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
 

โภชนาการระดับเซลล์จึงมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของดวงตา

เพราะมีการค้นพบสารอาหารสำคัญที่พบได้เฉพาะในพืชผักและผลไม้ ซึ่งไม่ใช่สารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกายเหมือนกับโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน แต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและมีส่วนช่วยป้องกันโรค ได้แก่ สารพฤกษเคมีที่ชื่อ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient)


Phyto หมายถึง พืช ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) คือสารอาหารจากพืชโดยตรง หรือสารพฤษเคมีที่พบได้เฉพาะในพืช ผัก ผลไม้ การศึกษาเชิงระบาดวิทยาหลายฉบับได้แสดงให้เห็นว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคเรื้อรังและอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค โดยไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ มีการค้นพบไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) มากกว่า 10,000 ชนิด และไฟโตนิวเทรียนท์แต่ละชนิดก็มีสรรพคุณต่อสุขภาพแตกต่างกันไป โดยเฉพาะไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) ที่มีบทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเซลล์ โดยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ด้วยเพราะว่าอนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียรที่สร้างความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน


ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามโครงสร้างทางเคมีและคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย แคโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ ไฟโตเอสโตรเจน กลูโคซิโนเลตส์ กรดเอลลาจิ เรสเวอราทรอล เป็นต้น

โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เป็นกลุ่มสารอาหารขนาดใหญ่ที่ยังสามารถแบ่งออกได้อีกกว่า 600 ชนิดย่อย แต่ชนิดของกลุ่มสารอาหารที่คุ้นหูกันก็คือกลุ่มของสาร ลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin) ที่มีอยู่ในผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ผักกาด โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดาว บรอคโคลี ต้นกระเทียม และยังพบลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin) ในถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแระ ถั่วพิสตาชิโอ พริกสด พริกแห้ง ฟักทอง แครอท ไข่แดง และข้าวโพด นอกจากนี้ ดอกดาวเรือง ก็ยังอุดมไปด้วยลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin) และมีการพัฒนาสูตรสู่การเป็นสารสกัดดอกดาวเรือง วิตามินบำรุงสายตา โดยถูกนำไปใช้เพื่อสร้างเซลล์ใหม่ ทดแทนเซลล์ที่ตายหรือเสียหายไป

มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาในเรื่องของปัญหาโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้และพบว่าโภชนาการสําคัญต่อสุขภาพของดวงตาจริง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบำรุงสายตาที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากเนื้อเยื่อจอประสาทตาหรือเรตินา (retina) มีระดับเมตาบอลิซึมที่สูงมาก จึงมีความต้องการออกซิเจนสูงและเนื่องจากโครงสร้างของเรตินาอุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) จึงทําให้มีสภาพแวดล้อมที่ไวต่อปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้การเลือกวิตามินบำรุงสายตาที่เป็นสารอาหารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ เช่น ลูทีน (lutein) ซีแซนทีน (zeaxanthin), มีโซ-ซีแซนทีน (Meso-zeaxanthin) คือโภชนาการที่เข้าถึงระดับเซลล์และมีส่วนสําคัญในการปกป้องดวงตาของเรา
มีผลการศึกษาของ The Health Professionals Follow-up Study และ The Nurses' HealthStudy ได้ศึกษาพฤติกรรมสุขภาพ การบริโภคอาหาร และภาวะสุขภาพในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มพยาบาลที่มีช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป จํานวน 102,046 คน เฝ้าติดตามกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลา 24 ปี และ 26 ปี ตามลําดับ ผลการศึกษาพบว่า เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่มโดยจัดกลุ่มตามการบริโภคอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูง เรียงตามลําดับจากมากไปหาน้อย โดยกลุ่มที่มีการบริโภคอาหารที่มีลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin) สูง มากที่สุด มีความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคจุดรับภาพเสื่อม ลดลงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบ กับกลุ่มที่มีการบริโภคอาหารที่มีลูทีน (Lutein), ซีแซนทิน (Zeaxanthin) ต่ำที่สุด 
[14]

ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) กลุ่มแคโรทีนอยด์บางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะทำการย่อยและแปลงสารอาหารเหล่านี้ให้ไปเป็นวิตามินเอ ที่ถือเป็นสารอนุมูลอิสระที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายและมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตาและโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ (Age-Related Macular Disease: AMD) โดยช่วยชะลอและยับยั้งการเสื่อมของเซลล์ อีกทั้งสารลูทีนและซีแซนทีนเป็นสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มักถูกนำมาศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพดวงตาอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากมีส่วนช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) ไม่เพียงแต่ช่วยต้านอนุมูลอิสระเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเรื้อรัง รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ทำให้ร่างกายสามารถต้านทานเชื้อโรคได้ดีขึ้น และไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) บางประเภท เช่น กลูโคซิโนเลต (glucosinolates) มีคุณสมบัติในการป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้  และการบริโภคอาหารที่มีไฟโตนิวเทรียนท์สูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาก ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) และเสริมสร้างสุขภาพของดวงตา ควรบริโภคพืชผักและผลไม้หลายชนิดและหลากสีเป็นประจำ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพดวงตาและป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ การกินอาหารที่หลากหลายและสมดุลในแต่ละวันจะช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดจากไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) เช่น...

  • ผักและผลไม้สีแดง, ส้ม และเหลือง จำพวก มะเขือเทศ, พีช, แตงโม, พริก, ผลไม้ตระกูลส้ม, แครอท, ฟักทอง, มะม่วง, เมลอน เป็นต้น
  • ผักใบเขียวเข้ม จำพวก ผักคะน้า, ผักโขม, ผักกวางตุ้ง, บรอกโคลี เป็นต้น
  • ผลไม้สีม่วงและน้ำเงิน จำพวก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, องุ่น, พลัม เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช จำพวก ข้าวกล้อง, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวสาลี, คีนัว และซีเรียลที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ถั่วและเมล็ดพืช จำพวก วอลนัท, อัลมอนด์, เมล็ดทานตะวัน, งา และเมล็ดแฟลกซ์
  • พืชตระกูลถั่ว จำพวก ถั่วแห้ง, ถั่วลันเตา, ถั่วเลนทิล, ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
  • เครื่องเทศและสมุนไพรไทย จำพวก กระเทียม, หอมแดง, ต้นหอม, ขิง, ขมิ้น

นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) เป็นส่วนประกอบ อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการเสริมสร้างสุขภาพดวงตาให้ดียิ่งขึ้น [6] [7] [12] [13]


4. แอนโทไซยานิน (Anthocyanins)

แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ถูกยกให้เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณภาพสูงและมีส่วนช่วยในการดูแลปกป้องดวงตาของมนุษย์ โดยแอนโทไซยานินนั้นเป็นสารที่ให้สีม่วง สีแดง สีน้ำเงิน ในพืชผัก เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง, มันเลือดไก่, กะหล่ำปลีม่วง, มะเขือเทศ, มะเขือม่วง, มันม่วง, ในผลไม้ เช่น บิลเบอร์รี่ (Bilberry), แบลคเคอร์แรนท์, สตรอว์เบอรี รวมทั้งธัญพืชและถั่วที่มีสีเข้ม แต่จะพบสารแอนโทไซยานินในบิลเบอร์รี่ (Bilberry) สูงมากเมื่อเทียบกับผักและผลไม้อื่น ๆ
[15]

แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นสารโพลีฟีนอลชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารฟลาโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติเป็นโภชนเภสัชที่มาแรงรับเทรนด์สุขภาพ (โภชนเภสัช การดูแลสุขภาพโดยการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติแต่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านของการป้องกันรักษาโรค รวมถึงการชะลอวัย) โดยแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ช่วยยับยั้งไม่ให้เลือดจับกันเป็นก้อน ช่วยในการหมุนเวียนของกระแสโลหิต จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) อีโคไล (Escherichia coli) ในระบบทางเดินอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน และต้านมะเร็ง [16] [17] [18]

จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแอนโทไซยานิน พบว่าสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) มีส่วนช่วยในการมองเห็นในที่มืดหรือในที่ที่มีแสงน้อย, มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก โดยจุดเด่นของสารแอนโทไซยานินในเรื่องของการเป็นวิตามินบำรุงสายตานั้น มีดังต่อไปนี้

  • ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังหลอดเลือดที่ดวงตา ช่วยเพิ่มการมองเห็นในที่มืด โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการตาบอดกลางคืน (night blindness) สายตาสั้น และดวงตาอ่อนล้าจากการใช้งานมากเกินไป
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดที่อยู่ภายในจอประสาทตา (retina) ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น
  • ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อดวงตาของผู้ที่ต้องเผชิญกับแสงแดดที่ร้อนแรง ซึ่งสามารถทำลายจอประสาทตาจนเสี่ยงที่จะทำให้ตาบอดได้

โดยปริมาณของแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) จะสัมพันธ์กับพืชผักผลไม้ที่มีสีม่วงแดง โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลบิลเบอร์รีที่มีสีม่วงแดงจนไปถึงน้ำเงินเข้ม ยิ่งแสดงว่ามีปริมาณแอนโทไซยานินสูง และแอนโทไซยานินจะถูกดูดซึมไปยังเซลล์ตาในรูปของมาลวิดิน ไกลโคไซด์ (Mulvidin glycosides) มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า หลังจากให้กินแอนโทไซยานินเสริมจะสามารถตรวจพบแอนโทไซยานินได้ที่ส่วนของกระจกตา เลนส์ตา จอประสาทตา จึงเป็นการพิสูจน์ว่า เมื่อรับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จึงให้คุณประโยชน์โดยตรงในการปกป้องดวงตา [20] [21]


5. เบต้า-แคโรทีน (beta-Carotene)

เบต้า-แคโรทีน (beta-Carotene) คือสารพฤกษเคมี หรือไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของสารแคโรทีนอยด์ที่ถือว่าเป็นสารสำคัญของพืชที่มีสี ที่สำคัญเบต้า-แคโรทีนถือเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของวิตามินเอ (โปรวิตามินเอ) หรือสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ที่ผนังลําไส้เล็ก ตับ ไต และจึงค่อย ๆ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายกลายเป็นวิตามินบำรุงสายตาคุณภาพดี โดยร่างกายจะนำไปใช้สร้างสารโรดอปซิน (rhodopsin) ในดวงตาส่วนเรตินา มีส่วนทำให้ดวงตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังมีส่วนช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ในดวงตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก ลดความเสี่ยงของภาวะจอประสาทตาเสื่อมอีกด้วย [24] [25]
เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) ที่นอกจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการแล้ว เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) ยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ ชะลอความเสื่อมของสมองและความจำ ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ดูแลรักษาผิวพรรณ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังพบว่าเบต้า-แคโรทีน ให้ผลกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายที่ชื่อที-เฮลเปอร์ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น จึงส่งผลดีต่อผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย 
[25]
เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) มีอยู่ในผักและผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง เช่น ฟักทอง แคร์รอต แคนตาลูป มะละกอสุก มะม่วงสุก และสามารถพบ เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) ได้ในผักและผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม เช่น บรอกโคลี ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง เป็นต้น


6. วิตามินเอ (Vitamin A)

วิตามินเอ (Vitamin A) ถือเป็นดาวดังของวงการวิตามินบำรุงสายตาที่มีส่วนช่วยคงสภาพปกติของการมองเห็น และมีส่วนช่วยในการมองเห็นในที่สลัว หากขาดวิตามินเอ (Vitamin A) อาจทําให้เกิดอาการทางตาที่เรียกว่า ซีรอฟทาลเมีย (Xerophthalmia) โดยในระยะแรกมีอาการตาบอดกลางคืน เยื่อบุตาขาวแห้ง กระจกตาแห้ง กระจกตาเป็นแผลและกระจกตาขุ่นเหลว แต่ถ้าการขาดวิตามินเอมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจทําให้เสี่ยงต่อการตาบอดได้

วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน และจะไปสะสมอยู่ในตับของคนเรา เมื่อร่างกายต้องการวิตามินเอก็จะปล่อยวิตามินเอเข้าสู่กระแสเลือด หลังจากนั้นเซลล์เยื่อบุผิวที่มีอยู่ทั่วร่างกายก็จะนําวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ต่อไป

วิตามินเอ (Vitamin A) พบอยู่ในสัตว์เท่านั้น แต่อาหารที่มีวิตามินเอสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา โดยเฉพาะปลาทูน่าและปลาค็อด (ปลาค็อด เป็นปลาทะเลน้ำลึก) นอกจากนี้ยังพบวิตามินเอสูงในตับของสัตว์ต่าง ๆ และในไข่แดง

วิตามินเอ (Vitamin A) ไม่มีอยู่ในอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ แต่ในพืชผักนั้นมีสารแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ที่ผนังลําไส้เล็ก ตับ และไต จึงเรียกแคโรทีนอยด์ว่าเป็นโปรวิตามินเอ (provitamin A)

ซึ่งสารแคโรทีนอยด์นั้นมีอยู่ในพืชผักที่มีสีเขียวและสีเหลือง และผลไม้ที่มีสีเหลือง, ส้ม, แดง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก มะเขือเทศ ใบคะน้า ใบยอ และใบตําลึง เป็นต้น

และมีผลการศึกษาจากงานวิจัยต่าง ๆ พบตรงกันว่า การขาดวิตามินเอ แม้เพียงในระดับอ่อน แม้จะไม่ปรากฏอาการเปลี่ยนแปลงทางตา (Mild or subclinical vitamin A) แต่จะมีความสัมพันธ์กับการเสี่ยงต่อการตายและการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคหัด การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคท้องเสียในเด็ก เป็นต้น การเสริมสร้างวิตามินเอแก่เด็กกลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอในระดับอ่อนและปานกลางจึงสามารถลดอัตราการตายและการติดเชื้อได้ [22] [23]


7. วิตามินอี (Vitamin E)

วิตามินอี Vitamin E เป็นหนึ่งในสารอาหาร 5 หมู่ ที่มีคุณประโยชน์จำเป็นต่อร่างกายในส่วนของสุขภาพและความงาม โดยวิตามินอี Vitamin E นั้นเป็นหนึ่งในวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ดี และร่างกายจำเป็นต้องใช้วิตามินอี Vitamin E ในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือให้มีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการอักเสบ และเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เพราะเมื่อเซลล์เกิดภาวะอักเสบหรือเสียหายก็จะเกิดความเสื่อมของเซลล์ที่นำไปสู่ความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เช่น เมื่อมีอนุมูลอิสระจำนวนมากที่ดวงตา ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้

ระบบการทำงานของร่างกายเราจะใช้วิตามินอี Vitamin E เพื่อช่วยทำให้มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นภายในร่างกาย ส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ เป็นไปตามปกติ หรือเปรียบ วิตามินอี Vitamin E เสมือนน้ำมันหล่อลื่นในรถยนต์ที่จำเป็นต้องมี หรือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ได้ให้พลังงานแก่รถ นั่นคือ วิตามินอี Vitamin E ไม่สามารถให้พลังงานโดยตรงต่อร่างกาย แต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามินอี Vitamin E เพื่อไปทำหน้าที่เปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน ซึ่งในคนเราต้องการวิตามินอี Vitamin E ในปริมาณที่น้อยแต่ขาดไม่ได้

วิตามินอี Vitamin E ยังมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของวิตามินเอ โดยจะไปป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของวิตามินเอสูญเสียไป

วิตามินอี Vitamin E เป็นสารสำคัญในอาหารธรรมชาติประเภทพืช ผัก ผลไม้, อาหารจำพวกถั่ว, อาหารทางการแพทย์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ สะอาด และมีความหลากหลาย ทำให้ได้รับวิตามินอีที่ครบถ้วน ส่งผลให้สุขภาพร่างกายมีการทำงานที่ปกติสมบูรณ์ดี [30] [31]


8. สังกะสี (Zinc) 

มีส่วนช่วยคงสภาพปกติของการมองเห็น มีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในเมตาบอลิซึมปกติของวิตามินเอ และคุณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย

ในบางคนอาจจะพอเคยได้สัมผัสและสงสัยว่า ทำไมเวลามาตรวจดวงตา แล้วได้วิตามินบำรุงสายตากลับมากินที่บ้าน แต่บางคนไม่ได้อะไรกลับมาบ้านเลย ยาหยอดตาก็ไม่ได้ มองใบหน้าลักษณะท่าทางก็ดูจะอายุก็ไล่เลี่ยกัน แต่ความสมควรที่จะได้รับวิตามินบำรุงสายตามักต้องมีเหตุผลที่ควรได้รับจริง ๆ

มีผลการศึกษาวิจัยในอเมริกาพบว่าการได้รับวิตามินบำรุงสายตา จำพวก วิตามินเอ วิตามินบี2 เบต้า-แคโรทีน สังกะสี นั้นมีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมของดวงตาในผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับวิตามินบำรุงสายตากลับบ้านไปด้วยนั้น แสดงว่าจอประสาทตายังมีสุขภาพดีอยู่ ซึ่งในสังกะสีมีคุณสมบัติช่วยในการทำให้จอประสาทตาเสื่อมที่เป็นอยู่แล้ว แย่ช้าลงได้นั่นเอง [28]


สังกะสี (Zinc) ยังมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกันโรค การสืบพันธุ์และระบบชีวประสาทที่ควบคุมพฤติกรรม

     สังกะสี (Zinc) มีบทบาทสำคัญ 3 ด้านในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต คือ…

     1. การกระตุ้นปฏิกิริยาชีวเคมี (catalytic functions)

มีเอนไซม์มากกว่า 300 ชนิดที่มีธาตุสังกะสีเป็นองค์ประกอบ เพื่อกระตุ้นปฎิกิริยาชีวเคมีในขบวนการเมตาบอลิซึมของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ตลอดจนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก ทั้ง DNA และ RNA ซึ่งมีความสำคัญในการแบ่งเซลล์ และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

     2. บทบาทในระดับโครงสร้าง (structural function)
ซึ่งสังกะสีมีส่วนช่วยให้โปรตีนจัดปรับโครงสร้างเป็นรูป 3 มิติ โดยจับกับกรดอะมิโน histidine และ cysteine เป็น zinc motifs หรือ zinc fingers ที่กำกับการแสดงออกทางพันธุกรรม ผ่านกระบวนการ transcription โดยปัจจุบันพบว่าร้อยละ 8 ของรหัสพันธุกรรมมนุษย์ เกี่ยวข้องกับ zinc finger proteins ถึง 2,500 ชนิด
     3. การควบคุมการทำงานระดับเซลล์ (regulatory function)
เป็นบทบาทของธาตุสังกะสีในส่วนของโครงสร้างโปรตีน ครอบคลุมกระบวนการสร้างโปรตีนภายในเซลล์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนด้วยกัน และกระบวนการสื่อสารระหว่างเซลล์ ซึ่งธาตุสังกะสีมีบทบาทควบคุมการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรมโดยตรง นอกจากนี้ สังกะสี ยังควบคุมการทำงานของเอ็นไซม์ kinase และphosphorylase เพื่อให้เกิดการสื่อสารภายในเซลล์ซึ่งเป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
[27]
โดยแหล่งอาหารที่พบธรตุสังกะสี ได้แก่ อาหารทะเลประเภทหอย หอยนางรม และธัญพืช ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น


9. วิตามินบี2 (Riboflavin)

วิตามินบี2 (Vitamin B2) หรือ Riboflavin (ไรโบฟลาวิน) หรือมีอีกชื่อว่า วิตามินจี (Vitamin G) เป็นหนึ่งในวิตามินบำรุงสายตาที่ขึ้นชื่อ เป็นสารอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินละลายในน้ำ มีสีเหลืองส้ม มีความคงตัวที่อุณหภูมิห้อง แต่ถูกทำลายได้ง่ายโดยแสง และเมื่อร่างกายได้รับวิตามินบี2 จากอาหาร จะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ FMN หรือ FAD ซึ่งเป็นโคเอนไซม์และทำหน้าที่เป็น hydrogen receptor หรือเป็นกุญแจสำคัญในขบวนการออกซิเดชัน-รีดักชัน (oxidation-reduction) ในร่างกาย

FMN จะเกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมของกรดไขมัน

FAD จะเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานและสังเคราะห์ไนอาซิน (niacin) จากกรดอะมิโนทริปโตเฟน (tryptophan) ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ช่วยเสริมสร้างระบบประสาท ผิวหนัง และดวงตา อีกทั้งยังช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลาย

วิตามินบี2 หรือ ไรโบฟลาวิน ที่เข้าสู่เซลล์ของเนื้อเยื่อแล้วจะเปลี่ยนเป็น FMN ประมาณร้อยละ 60-95 และส่วนที่เหลือจะเปลี่ยนเป็น FAD ซึ่งทั้ง FMN และ FAD จะจับกับ flavoprotein และส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ตับ ไตและหัวใจ และยังพบวิตามินบี2 หรือ ไรโบฟลาวิน ได้ที่บริเวณเรตินาของดวงตา ซึ่งในผู้ใหญ่ปกติจะมีวิตามินบี2 หรือ ไรโบฟลาวินสำรองเก็บไว้พอใช้ได้ภายใน 2-6 สัปดาห์

จากการศึกษาวิจัยพบว่า วิตามินบี2 หรือ Riboflavin เป็นสารอาหารที่พบได้ในอาหารที่ได้จากธรรมชาติ แต่โดยปกติแล้วแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ของร่างกายมนุษย์จะสามารถสังเคราะห์วิตามินบี2 ขึ้นมาใช้เองได้ แต่มีปริมาณที่ดูดซึมมาใช้ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ร่างกายจึงมีความต้องการวิตามินบี2 เพิ่มขึ้น โดยแหล่งอาหารธรรมชาติที่มีวิตามินบี2 (riboflavin) คือ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องใน เช่น หัวใจ ตับไก่ ไตหมู นมวัว ไข่ ชีส เนยแข็ง โยเกิร์ต ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง ผลไม้เปลือกแข็ง และผักใบเขียว [26] [27]
 


ที่มา
[1] ชัวร์ก่อนแชร์: แสงสีฟ้าทำลายจอประสาทตาจริงหรือ? | สำนักข่าวไทย อสมท
[2] สีและแสง การวัดการดูดกลืน สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
[3] แสงที่ตามองเห็น (visible light) กับ รังสีเอกซ์ (x-ray)
[4] ผลกระทบของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพดวงตาของคุณ
[5] จอประสาทตาเสื่อม สูงวัยทำอย่างไร ? / RAMA CHANNEL 
[6] Phytonutrients – Nature’s Natural Defense
[7] Clinical Evidence of the Benefits of Phytonutrients in Human Healthcare
[8] 8 โรคตาต้องระวัง เช็กความเสื่อม รู้ก่อนเสี่ยง / รพ. กรุงเทพ
[9] ตารางตรวจจุดภาพชัด เช็กอาการจอตาเสื่อม / รพ. ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
[10] บทความสุขภาพ “จอประสาทตาเสื่อม” อาการเริ่มต้นที่ควรระวัง! สาเหตุ วิธีรักษา วิธีป้องกัน / รพ. สมิติเวช
[11] ลูทีนและซีแซนทีน อาหารของดวงตา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
[12] ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) สารอาหารจากพืชพรรณที่ดีต่อสุขภาพ
[13] บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน / มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์
[14] ผลของโปสเตอร์โภชนศึกษาเรื่องอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูง เพื่อสุขภาพสายตาในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
[15] เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง / แอนโทไซยานิน
[16] การศึกาปริมาณแอนโทไซยานินในข้าวกล้องหอมดำสุโขทัย
[17] ความสามารถในการต้านอนุมูลอสิระของแอนโทไซยานิน / เบต้าแคโรทีน / วิตามินอี
[18] การวิเคราะห์ปริมาณแอนโธไซยานิ นและความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของมันเลือดไก่
[19] แอนโธไซยานิน สารพฤกษเคมีเพื่อสุขภาพดวงตา / วงการยา
[20] Maarit Rein. Copigmentation reactions and color stability of berry anthocyanins. University of Helsinki, 2005.  
[21] Michael Rhone and Arpita Basu. Phytochemicals and age-related eye diseases. Nutrition Reviews®. 2008;66(8):465-472.
[22] วิตามินเอ
[23] วิตามินเอ
[24] เบต้าแคโรทีน / สำนักโภชนาการ
[25] ประโยชน์ยิ่งใหญ่ของบีตาแคโรทีนในผักและผลไม้ / RAMA CHANNEL - มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
[26] ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี2
[27] ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 / สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย 
[28] อาหารบำรุงสายตา
[29] บทความสุขภาพ รพ.สมิติเวช
[30] วิตามิน ตอนที่3 วิตามินอี – Chula Digital Collections
[31] CMU Intellectual Repository / บทที่2 วิตามินอี

บทความที่น่าสนใจ
see more