"มัทฉะ" และ ชาเขียว คนส่วนใหญ่มักแยกชาเขียว 2 ชนิดนี้ไม่ออก โดยเข้าใจว่าทั้งมัทฉะและชาเขียวมาจากต้นชาเขียวต่างสายพันธุ์ มัทฉะคือชาเขียวญี่ปุ่น ส่วนชาเขียวคือ กรีนที ทั่วไปที่มาจากหลายแหล่งเพาะปลูก เหตุเพียงเพราะว่าชื่อ "มัทฉะ" เป็นภาษาญี่ปุ่น ส่วน "กรีนที" เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางของโลกแค่นั้นเอง
ความแตกต่างของ "มัทฉะ" และ "ชาเขียว"
มัทฉะ มีลักษณะเป็นผงเท่านั้น เป็นพันธุ์ชาเขียวเหมือน ๆ กันนี่แหละแต่ยอดชาที่นำมาผลิตมัทฉะจะผ่านกรรมวิธีการ “แกล้งชาเขียว” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกต้นชาด้วยการนำที่กรองแสงมากรองแสงให้ผ่านมาถึงต้นชาน้อยลงเหลือแค่ประมาณ 10% ของแสงธรรมชาติ ต้นชาจึงผลิตสารคลอโรฟิลล์มากขึ้นเพื่อช่วยให้สังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีกระบวนการบดใบชาที่ถูกควบคุมโดยผู้ที่ผ่านการรับรองมาแล้วว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา ผงชาที่ได้จะมีสีเขียวสดจนเกือบจะเป็นเขียวนีออน ลักษณะผงจะละเอียดมากจนละลายในน้ำร้อนได้เนียนสนิท มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวที่เป็นของมัทฉะไม่เหมือนกับชาเขียวโดยทั่วไป และถือเป็นชาชั้นดี ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นก็เรียกได้ว่าเก็บไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและผู้มาเยือนคนสำคัญกันเลยทีเดียว
ชาเขียว มีทั้งแบบเป็นใบและเป็นผง เป็นชาที่ปลูกใต้แสงแดดธรรมชาติ 100% สำหรับชาเขียวแบบผง ผงชาที่เห็นอาจจะไม่ได้มาจากใบชาอย่างเดียวแต่บดรวม ๆ กันมาจากใบหรือต้น ทั้งกระบวนการปลูกและการบดไม่ได้มีการควบคุมอะไรเป็นพิเศษความแตกต่างกันของ "มัทฉะ" และ “ชาเขียว ที่ชัดเจนที่สุด คือลักษณะของขั้นตอนการตั้งใจทำให้ชาเขียวทั่วไปกลายเป็นชามัทฉะ ตั้งแต่...
การปลูก หัวใจสำคัญคือการปลูกในร่ม เมื่อใบชาเริ่มแตกยอดแล้วเพื่อไม่ให้ใบชากระทบแสงแดด เรียกได้ว่าเป็นการชะลอการเจริญเติบโตในช่วงนั้น ยอดใบชาที่ได้จึงมีสีเขียวเข้มมากขึ้น ให้รสชาติหวานไม่ขมอย่างที่หลายคนเข้าใจ
การเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวใบชาต้องคัดสรรด้วยมือเท่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญในการเก็บใบชาจะเลือกช่วงที่ยอดอ่อนของใบชาบานสะพรั่ง
การอบใบชา อบด้วยไอน้ำโดยใช้เวลาประมาณ 15 - 20 วินาที และจะพร้อมใช้งานได้ภายใน 12 - 20 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว
การเป่าแห้ง จากขั้นตอนการอบไอน้ำใบชาที่งองุ้มจะถูกนำมาทำ “เคียวคุโระ” (Kyokuro) และ “เซนฉะ” (Sencha) ในขณะที่ใบชาที่ไม่งองุ้มจะถูกนำมาทำ “มัทฉะ” (Matcha) โดยจะใช้เครื่องเป่าที่ใช้ลมเย็น ๆ เบา ๆ ช่วยให้น้ำระเหยและแห้งตามต้องการโดยไม่ทำให้ใบชาเสียหาย
การบดเป็นผง นำใบชาที่แห้งสนิทแล้วไปหมุนกลิ้งหรือบดเป็นผงด้วยครก ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้ครกหิน ให้ผู้ดื่มได้รับสารอาหารในใบชาได้อย่างเต็มที่
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อแตกต่างของ “มัทฉะ” และ “ชาเขียว” คือการนำไปใช้ โดยมัทฉะ นอกจากจะใช้ชงเครื่องดื่ม ร้อน เย็น หรือปั่นได้แล้ว ยังสามารถเอาไปทำขนม หรือไอศกรีมได้อีกด้วย ในขณะที่ชาเขียว (ชาใบ) สามารถใช้ชงเครื่องดื่ม ร้อน เย็น ปั่น ได้ แต่ไม่เหมาะที่จะไปทำขนม หรือไอศกรีม นั่นเอง