0
| Health Tips

ใครชอบกินแบบนี้ เสี่ยงเป็นโรคไต

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 14 March 2019
 4686 times
 | 
SHARE 4 times



โรคไต เป็นแล้วรักษากันทั้งชีวิต การดูแลและวิธีรักษาโรคไตก็มีค่าใช้จ่ายสูง สาเหตุโรคไตก็มีได้หลายอย่างมากมาย บางคนเป็นมาแต่กำเนิด เกิดจากกรรมพันธุ์ จากการติดเชื้อ เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ฯลฯ และเกิดจากพฤติกรรมการกินที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตสูง แต่การกินแบบไหนเสี่ยงโรคไตบ้าง ต้องอ่านนะคะ

  1. กินตามใจปากจนน้ำหนักเกิน อันนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เนื่องจากในผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีอัตราการกรองของเสียในไตสูงกว่าคนปกติ และมีปริมาณไข่ขาวปนเปื้อนออกมาในปัสสาวะมากขึ้น เมื่อไตทำงานหนักเป็นเวลานานก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นของเซลล์ไขมันทั่วร่างกายจะทำให้มีการหลั่งสารต่าง ๆ ในกระบวนการอักเสบออกมาสู่กระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนทำให้เซลล์ของไตทำงานผิดปกติตามมาในที่สุด
  2. ดื่มน้ำน้อยไป / ดื่มน้ำมากไป ก็เป็นสาเหตุของหลาย ๆ โรค รวมถึงโรคไตด้วย เพราะไตทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองจนกระทั่งกลายเป็นปัสสาวะ แต่หากดื่มน้ำมากเกินไป ไตก็จะทำงานหนักมากไป เฮ้อ น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็เกินพอดี จึงควรดื่มน้ำให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวดีที่สุดนะคะ
  3. กินอาหารสำเร็จรูปและของหมักดอง อย่างเช่นการใช้ชีวิตจำเจอยู่กับการกินอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แหนม หมูยอ ไส้กรอก แฮม อาหารแช่แข็ง ผักดอง ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม เต้าเจี้ยว ผลไม้ดอง น้ำอัดลม โซดา ฯลฯ ที่ทำให้เราได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงโดยไม่รู้ตัว...เป็นความเสี่ยงโรคไต
  4. ชอบกินอาหารรสเค็มจัด มีส่วนทำให้ไตทำงานหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตนั่นเอง


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า คนไทยนิยมกินเค็มและมีพฤติกรรมการกินอาหารรสเค็มมากกว่าความต้องการของร่างกาย 2 - 3 เท่า หรือประมาณ 7,000 มิลลิกรัม (คนปกติไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นเกลือป่นประมาณ 6 กรัม (1 ช้อนชา) โดยเฉพาะการกินอาหารนอกบ้านอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ อาหารปิ้งย่างสไตล์เกาหลี ฯลฯ นั้นเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากที่สุด

วิธีสังเกตผลกระทบที่เกิดจากการกินรสเค็มมากเกินไป และอาจเป็นอาการของโรคไตเบื้องต้นก็ได้ คือหากรับประทานอาหารรสเค็มแล้วมีอาการบวม เช่น ขาบวม ตาบวม หรือกินรสเค็มแล้วรู้สึกหิวน้ำมาก แสดงว่าเริ่มกินเค็มมากเกินไป นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากปัสสาวะ หากพบว่าปัสสาวะมีฟองหรือมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายเริ่มมีความเสี่ยงโรคไตอันเกิดจากการกินรสเค็มจัด

ดังนั้น ถ้าหากต้องการป้องกันโรคไต ควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเรื่องการกินอาหารที่มีรสเค็ม

ควรกินอาหารรสเค็มให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มเติม คืออาหารสําหรับคนเป็นโรคไต เขาห้ามกินรสจัดเลยนะ และควรกินผักผลไม้ให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมไปถึงการเลือกกินอาหารทางเลือกสุขภาพ หรือ เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ อาทิ หากจำเป็นหรือหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปไม่ได้ แต่เราเลี่ยงความเสี่ยงโรคไตได้ด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเครื่องหมายรับรอง “ทางเลือกสุขภาพ”

ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจาก คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด กินได้ กินดี ไม่ต้องลุ้นหรือเสี่ยงโรคไต และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมมากขึ้น ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ อีกด้วย

Health Tips Other
see more