| Health Tips

ขับถ่ายเวลาไหนดี ถึงเรียกว่าสุขภาพดี

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 3 November 2021
 34764 times
 | 
SHARE 7 times



     ช่วงเวลายอดนิยมแห่งการแย่งห้องน้ำเกือบทุกบ้านมักเกิดขึ้นในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยต่อการปวดอุจจาระได้ง่าย เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นได้ง่ายที่สุด ทำให้หลายท่าน หลังตื่นนอน หรือว่าหลังกินอาหารเช้าจะรู้สึกปวดถ่ายได้ง่าย คนส่วนใหญ่จึงมีการกระตุ้นการขับถ่ายในช่วงเวลานี้และเป็นเรื่องง่ายทีเดียวที่เราจะฝึกวินัยให้มีการขับถ่ายในช่วงเวลาเช้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะการฝึกวินัยร่างกายทั้งการกินอาหารและการขับถ่ายตรงเวลา ถือเป็นการสร้างทางเลือกของการมีสุขภาพที่ดี

     แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ขับถ่ายในช่วงเช้าก็ไม่ต้องกังวล เพราะการขับถ่ายในช่วงเวลาอื่นก็ไม่ได้แตกต่างกับการขับถ่ายในช่วงเวลาเช้า เราสามารถที่จะขับถ่ายเป็นเวลาอื่น ๆ ของวันได้ และมีอีกหลายคนที่มักจะปวดถ่ายหลังจากกินอาหาร เช่น หลังกินมื้อเที่ยง หลังกินมื้อเย็น แล้วแต่ลักษณะเฉพาะบุคคล หรือความสะดวกของแต่ละบุคคล ซึ่งในคนปกติสามารถถ่ายได้ถึง 3 เวลาต่อวัน ถึง 3 วันต่อครั้ง ดังนั้น การที่เราไม่ขับถ่ายตอนเช้าก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด

     ช่วงเวลา ตี5 ถึง 7 โมงเช้า เป็นเวลาของลำไส้ใหญ่ และ 7 โมงเช้า ถึง 9 โมงเช้า เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่?

     ลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารของเรามีการบีบตัวตลอด 24 ชั่วโมง ลักษณะการบีบตัวในช่วงหลังอาหาร กับในช่วงท้องว่าง มีลักษณะการบีบตัวที่แตกต่างกัน แต่ว่าช่วงเวลาเช้าเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่มีการบีบตัวได้มากที่สุด ดังนั้นจึงมักมีการขับถ่ายในช่วงเช้า มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่พอตื่นเช้าขึ้นมาก็จะมีการขับถ่ายของเสียจากเมื่อวานทิ้งออกไปก่อน แต่ไม่ได้มีเวลาเฉพาะว่า ต้องเป็นกี่โมงถึงกี่โมง ถึงจะเป็นเวลาของลำไส้ใหญ่

     อุจจาระที่ไม่ได้ขับถ่ายในตอนเช้าจะถูกบีบตัวกลับไปที่กระเพาะอาหาร จริงหรือไม่?

     อุจจาระในลำไส้ใหญ่ไม่สามารถบีบย้อนขึ้นมาและยังคงค้างคาอยู่ในลำไส้ใหญ่ รอเวลาให้มีการปวดถ่ายในครั้งถัดไป ก็จะถูกขับถ่ายออกมา เนื่องจากทิศทางการบีบตัวของลำไส้เล็ก เริ่มจากกระเพาะอาหารไปหาลำไส้ใหญ่ ที่สำคัญ ลำไส้เล็กมีความยาวมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่กากของเสียของเก่าจะย้อนขึ้นลำไส้เล็กมาสู่กระเพาะอาหารได้ แต่...

     อุจจาระเก่ามีแก๊สพิษ จริงหรือไม่?

     กากของเสียที่ค้างอยู่ในลำไส้จะถูกแบคทีเรียในลำไส้หมักและเกิดแก๊สมากขึ้น ดังนั้นในคนที่ท้องผูกอาจจะมีอาการท้องอืดร่วมด้วย และอุจจาระก็จะถูกดูดซึมน้ำออกไป ทำให้มีลักษณะแข็ง อาจจะขนาดเล็กลงมีลักษณะเป็นเม็ดหัวกระสุน แต่ในส่วนของแก๊ส ส่วนใหญ่จะผายลมออกมา อาจมีการดูดซึมเข้าสู่หลอดเลือดดำแต่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่เราก็ไม่ควรลืมให้ความสำคัญกับระบบขับถ่ายจนปล่อยให้มีการดูดซึมแก๊สเข้าสู่หลอดเลือดดำ

     การไม่ขับถ่ายนาน ๆ หลายวัน เป็นเรื่องน่ากังวลกว่าการไม่ขับถ่ายตอนเช้า จริงหรือไม่?

     ในคนที่ไม่ขับถ่าย หรือที่เรียกว่าท้องผูก คือผู้ที่มีการขับถ่ายอุจจาระ เกินกว่า 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ซึ่งอาการท้องผูกอาจจะทำให้นั่งอยู่ในห้องน้ำนานขึ้น มีส่วนทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก แต่ไม่ใช่การที่เราไม่ขับถ่ายช่วงเช้า มีส่วนทำให้เกิดริดสีดวง

     อย่างไรก็ตาม การขับถ่ายที่เป็นเวลาจะทำให้ระบบขับถ่ายมีความเป็นธรรมชาติ มีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่ มีส่วนช่วยให้ร่างกายขับกากของเสียและสารพิษออกไป การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะดี ผิวพรรณและสุขภาพของเราก็จะดีตามไปด้วย และที่แน่ ๆ สำหรับในผู้ที่ขับถ่ายตอนเช้าจะมีความรู้สึกโล่ง คลายความอึดอัด  เกิดความคล่องตัวและสบายตัวในการเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสค่ะ

     ดังนั้น จึงควรให้มีการขับถ่ายในช่วงเช้าจะดีที่สุดต่อร่างกาย หวังว่าทุกคนจะสามารถขับถ่ายให้เป็นเวลาจนติดเป็นนิสัยและมีสุขภาพร่างกายที่ดีนะคะ heart


Health Tips Other
see more