| Health Tips

Do & Don't เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 11 September 2021
 2164 times
 | 
SHARE 7 times



มีผลการวิจัยหลายฉบับยืนยันตรงกันว่า “ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง” มีส่วนช่วยปกป้องสุขภาพของคุณจากการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ และในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ป้องกันจากการติดเชื้อไวรัส แต่อาจช่วยให้มีการฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างในกรณี นักวิจัยชาวออสเตรเลียที่ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีจำนวนมาก เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้โควิด-19 จะเกิดจากไวรัสตัวใหม่ แต่ในคนที่มีสุขภาพดี ก็จะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในเซลล์ประเภทต่าง ๆ และสัมพันธ์กับการฟื้นตัวทางคลินิกคล้ายกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่นั่นเอง

แต่ก็ยังพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีสาเหตุมาจากร่างกายไม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง นอกจากนี้ หลายคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงที่จะติดโรคและมีอาการรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคน ควรทำและไม่ควรทำ ในข้อใดต่อไปนี้ เพื่อรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

สิ่งที่ควรทำ เพื่อการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

1. นอนหลับให้เพียงพอ

โดยพยายามนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน เนื่องจากพบว่าการนอนหลับมีความสำคัญต่อการควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน และนิสัยการนอนดึก นอนน้อย มีผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม

2. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและช่วยให้มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดีขึ้น และทุก ๆ ครั้งของการออกกำลังกาย สมองของคุณจะหลั่งสาร serotonin หรือฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี ทำให้คุณรู้สึกมีความสุขและลดระดับความเครียดลงไปได้เยอะ การออกกำลังกายยังช่วยให้หัวใจแข็งแรง และช่วยเผาผลาญแคลอรีส่วนเกินในร่างกาย ทำให้ไม่อ้วนด้วย

3. กินอาหารที่มีสารอาหารช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน

การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือความรุนแรงจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ และยังเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ไม่ยาก เพราะการกินอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราจำเป็นต้องกินทุกวันเพื่อให้มีพลังงานในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าเราให้ความใส่ใจมากขึ้นในการเลือกอาหารที่มีสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเช่น ซิงค์ และ วิตามินซี เป็นต้น

  • ซิงค์ (Zinc) หรือ สังกะสี

มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสีในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ มีการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีแร่สังกะสี เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยป้องกันจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น และในขณะเดียวกัน หากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การติดเชื้อ ได้ในที่สุด และแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วย สังกะสี ได้แก่ เนื้อไม่ติดมัน สัตว์ปีก อาหารทะเล นม ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว เมล็ดพืช และถั่ว หรืออาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของซิงค์สูง

  • วิตามินซี

มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเรียกได้ว่าช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานได้ดี ช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวและมีส่วนช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรค และยังมีคุณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ มีส่วนช่วยป้องกันโรคหวัด, ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง, มีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามินซี ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน หรือ พริกหยวกแดง มะละกอ สตรอเบอร์รี มะเขือเทศ หรืออาหารที่เสริมวิตามินซีหรือผลิตภัณฑ์ที่ชื่นชอบแต่มีส่วนผสมของวิตามินซีสูง

4.ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำและฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งเราสามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การดูแลร่างกาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่ดี มาจากร่างกายที่แข็งแรง

 

สิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

1. ไม่ควรสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ

นอกจากรายงานความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์อันเกิดจากการสูบบุหรี่มากมายแล้ว ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเป็นหวัดและติดเชื้อทางเดินหายใจมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสหรือผลลัพธ์ที่ไม่ดีในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19

2. กินหวานมากไป

"หวานเป็นลม ขมเป็นยา" เป็นคำไทยโบราณที่กล่าวเตือนไว้ว่า อาหารที่มีรสหวานนั้นถ้ากินมากเกินไปก็ก่อให้เกิดโรคภัยเนื่องจากมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักซึ่งน้ำตาลมีส่วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันตรงกันว่า การกินน้ำตาล 1 ช้อนชา มีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง 50% ในระยะเวลา 6 ชั่วโมง เนื่องจากน้ำตาลสามารถเข้าไปกดการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่สำคัญคือคอยทำลายเชื้อโรคและปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า น้ำตาลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานบกพร่อง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าในช่วงเวลา 6 ชั่วโมงที่มีการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเข้าไปนั้น และจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค คุณก็จะมีโอกาสป่วยหรือติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนอื่นแม้จะไม่เป็นโรคอะไรเลย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายเพียงครึ่งหนึ่งนั่นเอง

3. ดื่มแอลกอฮอล์มาก

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยเฉพาะนักสังคมจอมปาร์ตี้ที่เป็นคอแอลกอฮอล์ตัวยง เพราะการดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะเข้าไปทำให้ภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดในร่างกายให้บกพร่อง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired)

นอกจากนี้การดื่มเหล้ายังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถตรวจจับ กำจัด และทำลายเชื้อไวรัส หรือต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ ๆ ได้ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับ (receptors) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อไวรัส
  2. แอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินปกติ อวัยวะทำงานผิดปกติ จนมีภาวะแทรกซ้อน "อักเสบรุนแรง (hyper-inflammation)"
  3. แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของร่างกาย ในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่อง

4. มีความเครียด

เพราะความเครียดไปกดการทำงานของร่างกายแทบทุกอย่าง รวมทั้งภูมิคุ้มกันด้วย ความเครียดอาจมากับปัญหาจากงาน การเรียน ครอบครัว ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมาคือ อะดรีนาลิน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เข้าสู่กระแสหมุนเวียนเลือดและไปสู่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญ ๆ ไปในทางที่ไม่ดี เช่น

  • หัวใจ เวลาเครียดจะรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรง ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อหัวใจเต้นมากกว่าปกติสักพักจะเหนื่อย
  • หลอดเลือด ความเครียดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวตีบตัน ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่
  • ตับ จะเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่เครียดมาก ๆ จะเป็นโรคเบาหวาน
  • กล้ามเนื้อ เวลาเครียดจะหดเกร็ง เป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่
  • หลอดลม เมื่อเกิดความเครียดหลอดลมจะหดเล็กลง ทำให้ต้องหายใจแรง ๆ ดังนั้น คนที่เครียดจะมีอาการถอนหายใจเพราะหายใจออกโดยแรง
  • ระบบทางเดินอาหาร ที่พอเวลาเครียด ลำไส้ กระเพาะอาหารจะหดลง ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และเป็นสาเหตุให้ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น เป็นสาเหตุของลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล
  • นอนไม่หลับ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง ใจคอฟุ้งซ่าน จึงเกิดอาการนอนไม่หลับ
  • ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งจากความเครียดยังเป็นต้นเหตุให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง สังเกตได้ว่าคนที่เครียดจะไม่สบายง่าย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นแผลในปาก เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ฮอร์โมนสารทุกข์เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติและส่งผลเสียแก่ร่างกาย


 
Health Tips Other
see more