ใยอาหาร (Fiber) เป็นสารอาหารที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพดี การบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง สามารถป้องกันและบำบัดโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจมีผลช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ จึงทำให้วงการแพทย์และนักโภชนาการสนใจ ใยอาหาร (Fiber) เป็นพิเศษ
ใยอาหาร (Fiber) มีลักษณะเป็นกาก สามารถอุ้มน้ำได้ในปริมาณมาก และเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารอย่างช้า ๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน แล้วในขณะที่ ใยอาหาร (Fiber) เคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหารนั้น ใยอาหาร (Fiber) จะดูดซับสารต่าง ๆ เช่น ไขมัน โคเลสเตอรอล น้ำตาลกลูโคส สารพิษ สารอนุมูลอิสระ สารโลหะหนักที่ให้โทษแก่ร่างกายชนิดร้ายแรง ฯลฯ ก่อนที่สารเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อถูกส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และใยอาหารจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายโดยคงสภาพโครงสร้างเช่นเดิมในรูปแบบกากของเสีย
มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ได้พยายามค้นหาประโยชน์ของ ใยอาหาร (Fiber) จนปัจจุบันได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วว่า ใยอาหาร (Fiber) มีส่วนช่วยป้องกันและบำบัดโรคที่สำคัญ เช่น ท้องผูก ระบบขับถ่ายไม่เป็นปกติ โรคอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค
ควรกินใยอาหารแค่ไหนถึงเพียงพอในหนึ่งวัน
คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) กำหนดปริมาณใยอาหารที่แนะนำให้บริโภควันละ 25 กรัม ซึ่งเป็นค่ากลางสำหรับคนไทยทั่วไปที่มีสภาวะทางสุขภาพปกติ แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่กินอาหารที่มีเส้นใยเพียง 2 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการเท่านั้น เพราะหากเราต้องกินผักเพื่อให้ได้ใยอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ เราต้องกินผักมากมายเพียงใด
“You are what you eat” กินอะไร ก็ได้อย่างนั้น บอกถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ที่ไม่ค่อยกินอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคอ้วนที่มีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาอีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในบ้านจะต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยมาก ๆ เพื่อที่ตัวเราเองและลูกหลาน หรือคนที่เรารัก จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เหล่านั้นนั่นเอง