เทศกาลกินเจ จะเริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีถือศีลกินผักของคนไทยเชื้อสายจีนและคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะงดเว้นในการกินเนื้อสัตว์เพื่อเป็นการทำบุญในรอบปี และในปี 2566 นี้ จะตรงกับวันที่ 15 -23 ตุลาคม รวมทั้งสิ้น 9 วัน
โดยชาวจีนเชื่อว่า อาหารเจคืออาหารเพื่อสุขภาพที่มีส่วนช่วยให้มีอายุยืนยาว วิธีการปรุงอาหารเจก็เรียบง่ายแต่มากไปด้วยคุณค่าทางร่างกาย จิตใจ และมุ่งเน้นสร้างบุญกุศลให้กับผู้ที่กินเจ เนื่องจากอาหารเจไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากสัตว์ เช่น ไข่ นม เนย น้ำปลา น้ำผึ้ง ฯลฯ รวมไปถึงผักบางชนิดที่เป็นข้อห้ามในการนำมาปรุงอาหารเช่นเดียวกัน
แต่ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ยังไม่แน่ใจว่าผักชนิดไหนเป็นอาหาร เจ และ ไม่เจ Live & Fit จะพาไปรู้จักผักที่ควรกินและผักต้องห้ามในเทศกาลกินเจ ดีต่อใจ ได้สุขภาพดี
ผักที่ควรกินและมีคุณค่าตามแบบฉบับบอาหารเจที่ถูกต้องนั้น ก็เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่มีคุณประโยชน์และเกิดผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด เพราะในช่วงกินเจที่เราจำเป็นต้องงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ ร่างกายของเราก็จะไม่ได้รับสารอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว กินเจทั้งทีก็ควรจะได้สุขภาพที่ดีตามไปด้วย โดยการเลือกกินผักที่มีโปรตีนสูง เนื่องจากโปรตีนนั้นไม่ได้มีแต่ในเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว ยังมีอยู่ในพืชบางชนิดแต่ต้องมีผัก 5 ชนิดนี้ในอาหารเจ ได้แก่.... [2]
ถั่วพู ผักหาซื้อง่ายตามตลาดทั่วไป เป็นผักที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต, แคลเซียม, ใยอาหาร, ธาตุเหล็ก, วิตามินบี, วิตามินซี ฯลฯ ที่สำคัญในเมล็ดถั่วพูมีโปรตีน 30 กรัม, ในฝักถั่วพูมีโปรตีน 2.1 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม
ถั่วงอก นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะเมนูอาหารเจต้องมีถั่วงอกเป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเจ, ผัดไทเจ, ขนมจีนน้ำยาเจ, ผัดถั่วงอกเจ ฯลฯ ล้วนเป็นเมนูที่มีรสชาติอร่อยมาจากถั่งอกและยังอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย อาทิ แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ใยอาหาร, วิตามินต่าง ๆ และโปรตีน 4.2 กรัม ต่อปริมาณถั่วงอก 100 กรัม
ตำลึง เป็นผักที่หากินง่ายในช่วงเทศกาลกินเจ เพราะเป็นช่วงฤดูฝน หรือบางปีก็เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่มีต้นตำลึงออกยอดอ่อนให้เด็ดมาทำอาหารเจได้หลากหลายเมนู แถมยังได้คุณค่าทางสารอาหารจากตำลึงหลากหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ, ใยอาหาร, แคลเซียม และโปรตีน 4.1 กรัม ต่อปริมาณตำลึง 100 กรัม
ผักโขม เป็นผักที่มีโปรตีน 5.2 กรัม ต่อปริมาณผักโขม 100 กรัม ถือเป็นผักที่มีโปรตีนสูงไม่แพ้ผักชนิดอื่น อีกทั้งยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, แมกนีเซียม, วิตามินเอ, วิตามินบี และวิตามินเค
ต้นอ่อนทานตะวัน อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมายไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ, วิตามินบี1, วิตามินบี6, โอเมก้า3, 6, 9, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, โพแทสเซียม, โฟเลต ฯลฯ ที่สำคัญ ต้นอ่อนทานตะวันมีโปรตีนที่สูงมากซึ่งสูงกว่าถั่วเหลืองเลยทีเดียว โดยต้นอ่อนทานตะวันมีโปรตีน 23 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม
เมื่อรู้จักผักที่ควรต้องมีในอาหารเจกันแล้ว ก็ต้องรู้จักผักต้องห้ามในเมนูอาหารเจ ได้แก่ หัวหอม, กระเทียม, หลักเกียว, กุยช่าย, ใบยาสูบ ถือเป็นผักมีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์ร้อน ซึ่งผักดังกล่าวจะเข้าไปช่วยเพิ่มความกำหนัดของผู้ถือศีล ทำให้จิตใจไม่บริสุทธิ์ในการถือศีลได้ บางครั้งยังรวมผักชีและเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อนอยู่ในข้อห้ามไม่ให้นำมาปรุงอาหารด้วย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อธาตุต่าง ๆ ในร่างกายให้เกิดการเสียสมดุล แต่ยังมีเหตุที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักต้องห้ามที่ไม่ควรนำมาประกอบอาหารเจ โดยชาวจีนเชื่อว่า...
หัวหอม รวมไปถึง ต้นหอม, หัวหอมแดง, หอมหัวใหญ่, หอมขาว ไม่ควรนำมาปรุงอาหารเจ แม้จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็ตาม แต่ชาวจีนเชื่อว่า หัวหอมจะเข้าไปส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตและไม่ดีกับธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้มีกลิ่นตัว
กระเทียม มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่มีโทษสำหรับผู้ที่กินเจเพื่อกินกะเทียมในปริมาณที่มากเกินพอดี ส่งผลให้มีความระคายเคืองต่อผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและโรคตับได้
หลักเกียว หรือ กระเทียมโทนจีน มีลักษณะคล้ายหัวกระเทียมแต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า ไม่มีการปลูกหลักเกียวในประเทศไทย ซึ่งชาวจีนเชื่อว่า หากกินหลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีนเข้าไป หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีนจะเข้าไปทำลายการทำงานของม้ามและส่งผลกระทบกับธาตุดินในร่างกาย
กุยช่าย เป็นผักต้องห้ามที่ชาวจีนเชื่อว่า กุยช่ายจะเข้าไปทำลายการทำงานของตับและส่งผลกระทบต่อธาตุไม้ในร่างกาย
ใบยาสูบ ในที่นี้จะหมายถึง ยาเส้น บุหรี่ เป็นสิ่งเสพติดที่ชาวจีนเชื่อว่าใบยาสูบจะเข้าไปทำลายการทำงานของปอด และส่งผลกระทบต่อธาตุโลหะในร่างกาย [1]
ที่มา:
[1] ตำรับอาหารเจเพื่อสุขภาพ.-- กรุงเทพฯ : พีอาร์, 2557. ISBN 978-616-288-190-9
[2] MGR Online / เคล็ดลับสุขภาพ / 5 ผักโปรตีนสูง ไม่แพ้เนื้อสัตว์