0
| Health Tips

ป้องกัน & ฟื้นฟู ภาวะ Long COVID

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 8 August 2022
 1454 times
 | 
SHARE 5 times

     ภาวะโพสต์โควิด (Post - Covid Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) อาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 ที่มีทั้งอาการทางร่างกายและทางจิตใจ อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่าอาการ Long COVID มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ก็สามารถสังเกตลักษณะอาการร่วมที่พบได้บ่อย ได้แก่

 

     √ มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ

     √ มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง

     √ ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ

     √ นอนไม่หลับ หลับยาก

     √ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

     √ มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย

     √ ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก

     √ ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า

     √ เวียนศีรษะ มึนศีรษะ

     √ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ไม่อยากอาหาร กรดไหลย้อน

     √ มีผื่นขึ้นตามตัว

     √ อาจมีภาวะซึมเศร้า หดหู่ หรือวิตกกังวล

     √ การทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดีมาก กลายเป็นว่าเมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว ภูมิคุ้มกันอาจหันมาทำลายเซลล์ในร่างกายของเราเอง

 

     อาการ Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long COVID ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน) นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

 

     แนวทางป้องกัน Long COVID ลองโควิด

     หากยังไม่เคยรับเชื้อโควิด-19 ควรมีแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะรุนแรงของโรค หากได้รับเชื้อภายหลัง หรือลดภาวะรุนแรงจาก Long COVID ได้แก่

     √ รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด (ในผู้ที่ยังไม่เคยรับการฉีดวัคซีน)

     √ มีโรคประจำตัว พยายามดูแลตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ให้อาการของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

     √ รักษาภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล พยายามตรวจสอบภาวะจิตใจของตัวเองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามา

     √ น้ำหนักเกินต้องคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต้องมีวินัยในการกิน เลี่ยงของทอด ของมัน ของหวาน

     √ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ร่างกายเราแข็งแรงแน่นอนและยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย

     √ กินอาหารที่มี 5 สารอาหารสำคัญ เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้คุณยกการ์ดสูงขึ้นอีก ดังนี้

     สังกะสี (Zinc) มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ มีอยู่ในพืชตระกูลถั่ว ไข่ ฯลฯ

     วิตามินซี มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อและโรคหวัดได้ มีอยู่ในผลไม้รสเปรี้ยว ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น

     เหล็ก มีส่วนช่วยขนส่งออกซิเจนให้แก่เซลล์ภูมิคุ้มกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง พบธาตุเหล็กได้ในเนื้อไม่ติดมัน ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว

     วิตามินดี มีส่วนช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ปลา

     ซีลีเนียม มีส่วนช่วยปกป้องร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระและการติดเชื้อ พบได้ในพืชตระกูลถั่วและไข่

     การมีโภชนาการที่ดีเชื่อมโยงกับภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นเสมอ และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ ผู้ที่ขาด 5 สารอาหารสำคัญ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากเชื้อโรคที่เป็นอันตรายและการติดเชื้ออื่น ๆ ได้

 

     แนวทางการฟื้นฟูภาวะ Long COVID ลองโควิด

     เมื่อทราบว่ามีอาการ Long COVID และปรึกษาแพทย์แล้ว ในช่วงที่พักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ควรเน้นเรื่องการดูแลร่างกายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการอักเสบของร่างกาย เพราะโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ได้แก่

     √ กินอาหารที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายในทุกมื้อ

     มุ่งเน้นที่อาหารมีโปรตีนสูงและวิตามินต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่วต่าง ๆ และผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โดยกินในสัดส่วนที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป

     นอกจากนี้ การกินอาหารประเภทแป้งก็ควรเลือกกินประเภทแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิ ขนมปังโฮลวีท เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลที่เร็วเกินไป (น้ำตาลมีส่วนเพิ่มโอกาสการอักเสบ) รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมด้วย

     √ พยายามออกกำลังกาย (อย่างเหมาะสม)

     การออกกำลังกายเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีสมรรถภาพเช่นเดิมได้อีกครั้ง แต่ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่บางอย่างอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิด (และถึงขั้นทำให้อาการแย่ลงได้) ดังนั้นในผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิดจึงควรเลือกการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

     เช่น เริ่มจากท่าออกกำลังกายเบา ๆ เน้นเคลื่อนไหวช้า ๆ ให้มากที่สุด อย่าพึ่งรีบไปทำท่ายาก อย่าเร่งตัวเองให้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงแรกนั้น ปอดหรืออวัยวะต่าง ๆ ของเราอาจยังมีส่วนที่เสียหายอยู่ ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

     โควิด-19 ในวันนี้ ส่งผลต่อผู้คนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และหายจากโรคได้เองโดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล

     อาการทั่วไป มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส

     อาการที่พบไม่บ่อยนัก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ท้องเสีย มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี

     ตาแดงหรือระคายเคืองตา

     โปรดสังเกตร่างกายและใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองมาก ๆ เพราะการระบาดของโควิด-19 ทุกวันนี้ยังมีตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ซึ่งเราทุกคนล้วนตระหนักดีว่า “การ์ดอย่าตก” ปกป้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือเป็นระยะ เป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้นั่นเอง

Health Tips Other
see more