0
| Health Tips

6 สรรพคุณของหญ้าหวานสกัด ที่คุณอาจไม่เคยรู้

  Add Friend
อัพเดตโปรโมชั่นและข่าวสารดีๆ ผ่านทาง LINE LIVE & FIT
ID : @Liveandfit
 23 March 2021
 22797 times
 | 
SHARE 11 times



ทำความรู้จัก สรรพคุณของหญ้าหวาน แบบผู้รอบรู้

หญ้าหวาน หรือที่หลาย ๆ คนอาจเรียกกันติดปากสั้น ๆ ว่า ‘สตีเวีย’ (Stevia) จัดเป็นสมุนไพรที่ให้ความหวานตามธรรมชาติ บางคนอาจเลือกใช้หญ้าหวานทดแทนน้ำตาล และยังมีบางคนที่ใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ เช่น ใช้เพื่อการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนั้นวันนี้ทาง Live & Fit จะขอพาคุณมาทำความรู้จักกับหญ้าหวานและสรรพคุณของหญ้าหวานสกัดแบบผู้รอบรู้กันค่ะ

หญ้าหวาน...แหล่งความหวานจากธรรมชาติ

หญ้าหวาน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Stevia rebaudiana (Bertoni) หรือเรียกสั้น ๆ ได้ว่า สตีเวีย (Stevia) สมุนไพรชนิดนี้จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับเบญจมาศซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลแร็กวีด (Ragweed)

ต้นหญ้าหวานอยู่ในกลุ่มพืชล้มลุกที่มีขนาดเล็ก ด้วยความสูงประมาณ 30 - 90 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายต้นโหระพา ใบหญ้าหวานเป็นส่วนที่มีรสชาติหวานมาก โดยลักษณะของใบจะดูคล้ายหอกหัวกลับ ขอบใบหยัก นอกจากนี้ยังออกดอกเป็นดอกเล็กสีขาว 
 


เดิมทีสมุนไพรพุ่มดกชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในประเทศปารากวัยและบราซิล สมุนไพรดังกล่าวยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “Yerba ducle” ที่แปลความหมายได้ว่า “สมุนไพรหวาน” ชาวปารากวัยพื้นเมืองนั้นนิยมใช้เพื่อเพิ่มความหวานให้แก่อาหารและเครื่องดื่มมานานกว่า 1,500 ปี ก่อนที่จะเริ่มมีการเพาะปลูกมากขึ้นในประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองมักนำสมุนไพรชนิดนี้มาปรุงรสหรือใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เนื้อปลาบด ซีอิ๊ว ผักดอง เต้าเจี้ยว เป็นต้น

ในภายหลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518 ต้นหญ้าหวานถูกนำเข้ามาเพาะปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดลำพูน เนื่องจากภูมิภาคที่พืชชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดีคือพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยประมาณ 600 - 700 เมตร และปลูกได้ในที่ที่อากาศค่อนข้างเย็นหรือประมาณอุณหภูมิที่ 20 - 26 องศาเซลเซียส

สารสกัดของหญ้าหวานได้มาอย่างไร ?

ในการสกัดสารให้ความหวานจากหญ้าหวาน มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้

  1. สิ่งสำคัญในการสกัดสารให้ความหวานคือการสกัดสารไกลโคไซด์จากใบซึ่งขั้นตอนแรกเริ่มคือการแช่น้ำใบหญ้าหวาน
  2. อนุภาคของใบหญ้าหวานจะถูกกรองออกจากของเหลว
  3. ของเหลวที่ได้จะถูกทำความสะอาดด้วยการใช้ถ่านกัมมันต์เพื่อการกำจัดสารอินทรีย์อื่น ๆ
  4. จากนั้นของเหลวจะผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนประจุไออนเพื่อนขจัดแร่ธาตุและโลหะต่าง ๆ
  5. จากนั้นไกลโคไซด์ที่ยังคงอยู่จะถูกสกัดให้เข้มข้นจนมีลักษณะเหมือนยาง และถูกนำไปผ่านกระบวนการอื่น ๆ ต่อไปเพื่อให้ได้เป็นวัตถุให้ความหวาน



ทั้งนี้สารประกอบของหญ้าหวานที่ผ่านกระบวนการคัดแยกและทำให้บริสุทธิ์ ประกอบด้วย

  • สตีวิโอไซด์
  • รีบาวดิโอไซด์ เอ ซี ดี อี และ เอฟ
  • สตีวิออลไบโอไซด์
  • ดัลโคไซด์ก
  • สตีวิโอไซด์และรีบาวดิโอไซด์ เอ (reb A) เป็นส่วนประกอบที่มีอยู่มากที่สุด


สำหรับรสชาติหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของหญ้าหวานนั้นได้มาจากสารสกัดบริสุทธ์อย่างสารสตีวิออล ไกลโคไซด์ (Steviol glycoside) มีลักษณะเป็นผงสีขาวไปจนถึงสีเหลืองอ่อน ทนต่อความร้อนได้ดี มีความคงตัวสูง และไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ซึ่งในสตีวิออล ไกลโคไซด์จะมีสารประกอบสำคัญที่พบมากที่สุดอย่าง สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ที่มีคุณสมบัติในการให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสหรือน้ำตาลทราย ถึง 300 เท่า

ถึงแม้ว่าสารสตีวิโอไซด์นี้จะมีความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่า แต่ในปี ค.ศ. 2009 สารประกอบดังกล่าวนั้นได้รับการรับรองว่าเป็นสารประกอบที่ปลอดภัยโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) จึงมีการนำใปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น

สำหรับจุดเริ่มต้นของการใช้สตีเวียในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นเมื่อมีการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขให้มีการใช้สตีวิโอไซด์ (Stevioside) เป็นสารให้ความหวานได้ (อ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 262 พ.ศ. 2545) และในปัจจุบันสารสกัดจากหญ้าหวานอย่าง สตีวิออล ไกลโคไซด์ หรือ สตีเวีย ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าสารสกัดชนิดนี้สามารถใช้บริโภคแทนน้ำตาลได้ ทั้งยังมีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย

6 สรรพคุณของหญ้าหวานสกัดที่คุณอาจไม่เคยรู้

ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้หญ้าหวานได้กลายมาเป็นใบหญ้าหวานสกัดหรือวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ราคาย่อมเยาว์ หาซื้อได้ง่าย อีกทั้งสรรพคุณของหญ้าหวานสกัดนับได้ว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคหลายกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง โดย 6 สรรพคุณของหญ้าหวานสกัด มีดังนี้

  1.  แคลอรี่ต่ำ


สรรพคุณของหญ้าหวานสกัดที่โดดเด่นคือ การให้ความหวานที่ปราศจากคาร์โบไฮเดรต และจัดว่ามีพลังงานหรือแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคที่ต่ำมากจนอาจนับได้ว่าเป็น 0 แคลอรี่ (Zero Calorie) จึงอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้เมื่อใช้ใบหญ้าหวานสกัดทดแทนน้ำตาลปกติที่ให้พลังงานประมาณ 45 แคลอรี่ต่อช้อนโต๊ะ (12 กรัม) ดังนั้นการใช้ใบหญ้าหวานสกัดแทนน้ำตาลอาจช่วยให้คุณอิ่มโดยได้รับแคลอรี่น้อยลง

อ้างอิงจากข้อมูลโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NIH: National Institutes of Health) จากการศึกษาในผู้ใหญ่ 31 คนที่รับประทานขนมขบเคี้ยวที่ทำจากหญ้าหวานสกัดและให้พลังงาน 290 แคลอรี่นั้นรับประทานอาหารมื้อต่อไปในปริมาณเท่ากันกับผู้ที่ที่รับประทานขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาลและให้พลังงาน 500 แคลอรี่ ทั้งสองกลุ่มมีรายงานระดับความอิ่มที่ใกล้เคียงกัน กล่าวได้ว่า กลุ่มผู้ที่รับประทานหญ้าหวานสกัดได้รับปริมาณแคลอรี่โดยรวมลดลงในขณะที่ยังรู้สึกพึงพอใจเท่ากัน

ถึงแม้ว่าการใช้สารให้ความหวานที่ไม่มีแคลอรี่ในปริมาณเล็กน้อยอาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพในการลดปริมาณน้ำตาล แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำตาลน้อยลง และใช้สารทดแทนน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนถึงการเลือกใช้แหล่งความหวานจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลจากผลไม้ ร่วมด้วยนะคะ

  1. มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาล


การเลือกใช้ใบหญ้าหวานสกัดแทนน้ำตาลอาจเป็นทางเลือกที่ดีเลยทีเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะการเลือกใช้ใบหญ้าหวานสกัดส่งผลเล็กน้อยมากหรืออาจไม่ส่งผลเลยต่อระดับกลูโคสในเลือด ระดับอินซูลิน และน้ำหนักตัว

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเอง ก็ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่รับรองว่า สารสกัดจากใบหญ้าหวานไม่ได้ให้แคลอรี่หรือคาร์โบไฮเดรตในอาหาร และยังพบว่าใบหญ้าหวานสกัดไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือการตอบสนองของอินซูลิน ด้วยเหตุนี้การใช้ใบหญ้าหวานสกัดในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายขึ้นตามแผนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ยังมีผลการศึกษาที่เชื่อถือได้ระบุว่า การใช้ใบหญ้าหวานสกัดทดแทนน้ำตาลทรายมีส่วนช่วยในการลดค่าดัชนีไกลซีมิก (GI: Glycemic Index) หรือค่าดัชนีน้ำตาลได้ นั่นอาจหมายความว่าใบหญ้าหวานสกัดส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดในระดับที่น้อยกว่า

ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน สารสกัดจากหญ้าหวานหรือสตีเวียอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ทีนี้ลองหันมาใช้ใบหญ้าหวานสกัดเพื่อเติมความหวานกับโยเกิร์ต กาแฟร้อน หรือชาร้อนโดยไม่เป็นการเพิ่มคาร์โบไฮเดรตกันดูค่ะ

  1. ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอล

สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ใบหญ้าหวานสกัดอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะสรรพคุณของหญ้าหวานสกัดนั้นมีความเชื่อมโยงกับการควบคุมระดับโคเลสเตรอลเช่นกัน เนื่องจากมีการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ. 2009 ชี้ว่าผงสกัดจากใบหญ้าหวานอาจช่วยจัดการกับโคเลสเตอรอลได้

อ้างอิงจากผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้ทำการรับประทานสารสกัดจากใบหญ้าหวาน 20 มิลลิลิตรทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน ผลของการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบหญ้าหวานมีส่วนช่วยในการลดโคเลสเตอรอลไม่ดีหรือชนิด LDL และไขมันไตรกลีเซอไรด์โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเชิงลบ ในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มไขมันดีชนิด HDL แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า การใช้ใบหญ้าหวานสกัดในปริมาณที่น้อยลงเป็นครั้งคราวจะสามารถให้ผลเดียวกันหรือไม่

  1. ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับอ่อน


อีกหนึ่งสรรพคุณของหญ้าหวานสกัดที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้ คือ ในใบหญ้าหวานสกัดจะมีสารสเตอรอล (Sterols) และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดรวมทั้ง สารเคมเฟอรอล (Kaempferol) ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารพฤกษศาสตร์ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มักพบในผักและผลไม้ มีคุณสมบัติเด่นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจากการศึกษาชิ้นหนึ่ง พบว่าสารเคมเฟอรอลนี้สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับอ่อนได้ถึงร้อยละ 23 กล่าวได้ว่า ใบหญ้าหวานสกัดอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพเช่นกัน

  1. ลดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและเบาหวานในเด็ก


การบริโภคน้ำตาลในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลซูโครส น้ำตาลฟรักโตส นั้นมีความเชื่อมโยงกับการอักเสบ ภาวะน้ำหนักเกิน และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังเช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ และสำหรับในเด็กเองที่มักบริโภคอาหาร เครื่องดื่มโดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาลสูงอาจนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่

ดังนั้นการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารจึงมีความสำคัญ ซึ่งใบหญ้าหวานสกัดอาจเป็นทางเลือกในการลดระดับแคลอรี่และความหวานที่ไม่จำเป็นสำหรับโภชนาการของเด็ก

ในประเทศไทยเอง มีผลวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้กล่าวเสริมไว้ว่า การใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุกกรณี โดยค่าสูงสุดที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยคือ ปริมาณ  7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(น้ำหนักตัว)/วัน นอกจากนี้สารสกัดจากใบหญ้าหวานยังสามารถใช้ทดแทนน้ำตาลได้ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนกำลังต้องการดูแลควบคุมโภชนาการโดยเฉพาะการบริโภคน้ำตาลในเด็ก และกำลังมองหาทางเลือกสุขภาพดี ๆ สำหรับลูกรัก อาจลองเลือกใช้เป็นใบหญ้าหวานสกัดเป็นวัตถุให้ความหวานทดแทนน้ำตาลได้เช่นกันนะคะ 

  1. อัตราที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่ำ


สรรพคุณของหญ้าหวานที่แตกต่างจากน้ำตาลทรายอย่างเห็นได้ชัดคือ อัตราที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่ำ เนื่องจากไม่มีการบันทึกกรณีการแพ้ใบหญ้าหวานสกัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 แม้แต่สารสกัดจากหญ้าหวานในรูปแบบบริสุทธิ์สูงก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดอาการแพ้ใด ๆ

เมื่อปี ค.ศ. 2010 คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้ทำการตรวจสอบและทบทวนเอกสารที่มีอยู่เพื่อตั้งข้อพิจารณาว่ามีสาเหตุที่น่ากังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ต่อใบหญ้าหวานสกัดหรือไม่ ผู้ตรวจสอบให้ข้อสรุปว่า “สตีวิออล ไกลโคไซด์ไม่ทำปฏิกิริยาและไม่ถูกเผาผลาญเป็นสารประกอบที่ทำปฏิกิริยา ดังนั้นสตีวิออล ไกลโคไซด์ที่อยู่ระหว่างการประเมินจึงไม่น่าจะทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อบริโภคในอาหาร”

ผู้ที่มีประสบกับภาวะภูมิแพ้น้ำตาล (Sugar allergy) หรือมีอาการแพ้น้ำตาลซูโครส (Sucrose-isomaltose malabsorption) อาจลองหันมาใช้ใบหญ้าหวานสกัดหรือสตีเวียทดแทนน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพ้ซูโครสค่ะ

ข้อควรรู้ก่อนการบริโภคใบหญ้าหวานสกัด

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคใบหญ้าหวานดิบ คุณควรเลือกใบหญ้าหวานสกัดที่ผ่านกระบวนการผลิตจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ เพราะการบริโภคใบหญ้าหวานดิบอาจเป็นอันตรายต่อไต ระบบสืบพันธุ์ ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ยังอาจลดความดันโลหิตให้ต่ำลงจนเกินไป หรือมีปฏิกิริยากับยาที่คุณใช้ได้
  • สำหรับสตรีมีครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ใบหญ้าหวานสกัด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ใบหญ้าหวานสกัด เพราะถึงแม้ว่ามีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี่ให้เห็นว่า สารประกอบหรือสารเคมีบางชนิดที่มีในใบหญ้าหวานอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่ไม่สนับสนุนในเรื่องนี้
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ต่อแร็กวีด (Ragweed) หรือหญ้าในสกุลเดียวกันเช่น เบญจมาศ เดซี่ ดาวเรือง และพืชอื่น ๆ เพราะในทางทฤษฎียังมีผู้ที่มีปฏิกิริยาไวต่อแร็กวีดและพืชในสกุลเดียวกัน จึงอาจมีปฏิกิริยาไวต่อโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคความดันโลหิตสูงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ใบหญ้าหวานสกัด



เคล็ดไม่ลับ..เติมความหวานให้กับอาหารจานโปรดของคุณ

คุณสามารถใช้หญ้าหวานทดแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มที่คุณชื่นชอบ เพื่อเพิ่มรสชาติหวานแบบธรรมชาติ เช่น

  • เครื่องดื่มร้อนอย่าง กาแฟ โกโก้ หรือชา
  • ปรุงรสโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่หวาน
  • เติมความหวานอาหารหมักดอง
  • ปรุงรสในน้ำปั่นอย่าง ผักผลไม้ปั่น หรือสมูทตี้
  • ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน ได้ทั้งรสหวานจากธรรมชาติและสุขภาพที่ดี


อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้ใบหญ้าหวานสกัดทดแทนน้ำตาลไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร หรือเพื่อการปรุงรสอาหารก่อนรับประทาน ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์และใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพกันนะคะ

ที่สำคัญ.. อย่าลืมเลือก ฟิตเน่ สวีท สตีเวีย ใบหญ้าหวานสกัด 1 ช้อนชา (0 แคลอรี่) ให้ความหวานเท่ากับ น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา (16 แคลอรี่) ช้อนต่อช้อนเหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำตาล สะดวกปรุงรสอาหารและเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น
 

Health Tips Other
see more